คณะกรรมการบริหาร
     โครงการฯภาคเหนือ
     โครงการฯภาคกลาง
     โครงการฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     โครงการฯภาคใต้
Username
Password
 


UserName

Password

   
 
 


          ข้อมูลวิชาการ

 ฝายในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
 ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้

บทนำ (แนวทางตามพระราชดำริต่าง ๆ)
วัตถุประสงค์
รูปแบบของฝายต้นน้ำลำธาร
แนวทางการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร
ข้อควรคำนึงในการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร
การบำรุงรักษาฝายต้นน้ำลำธาร
ประโยชน์ของฝายต้นน้ำลำธาร
การก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารชนิดต่าง ๆ
     ฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน
          ฝายผสมผสานแบบคอกหมู
          ฝายผสมผสานแบบไม้ไผ่
          ฝายผสมผสานแบบกระสอบ
          ฝายผสมผสานแบบลวดตาข่าย
          ฝายผสมผสานแบบหินทิ้ง
          ฝายผสมผสานแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
     ฝายต้นน้ำลำธารแบบกึ่งถาวร
     ฝายต้นน้ำลำธารแบบถาวร


 
 

ฝายต้นน้ำพระราชทาน

ณ ลำห้วยน้ำงุม
หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
12 กุมภาพันธ์ 2544

  1. บทนำ  
 
  ฝาย (Check Dam) เป็นแนวพระราชดำริ ทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนัก ถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้ ซึ่งปัญหาสำคัญ ที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น คือ “ น้ำ ” อันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสนออุปกรณ์ อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดี และ ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam หรือ อาจเรียกว่า “ ฝายชะลอความชุ่มชื้น ” ก็ได้เช่นกัน


  ฝายหรือ Check Dam คือสิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือ พื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และ หากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และ กักเก็บตะกอนไม่ให้ไหล ลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำอธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น "...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหมุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้ค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้น ในบริเวณนั้นด้วย…"


  รูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า "...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ…"


  การก่อสร้าง Check Dam นั้นได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า  "...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป…"
  การพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ได้พระราชทานแนวพระราชดำริว่า "...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ ได้ปริมาณน้ำหล่อเลี้ยง และประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรง และโตเร็ว ที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้…"
  ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภทดังพระราชดำรัส คือ "...Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่…” จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้นประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง"
รูปแบบของ Check Dam ตามแนวพระราชดำริ มี 3 รูปแบบ คือ
  1. Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้น
  เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้และท่อนไม้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่ายๆ ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยร่องน้ำ ซึ่งจะสามารถดักตะกอนชะลอการไหลของน้ำ และ เพิ่มความชุ่มชี้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้สิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลยนอกจากใช้แรงงานเท่านั้น
  การก่อสร้าง Check Dam แบบท้องถิ่นเบื้องต้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น


      1.1 ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยหิน
      1.2 ก่อสร้างด้วยท่อนไม้ขนาบด้วยถุงบรรจุดินหรือทราย
      1.3 ก่อสร้างด้วยคอกหมูแกนดินอัดขนาบด้วยหิน
      1.4 ก่อสร้างแบบเรียงด้วยหินแบบง่าย
      1.5 ก่อสร้างแบบคอกหมูหินทิ้ง
      1.6 ก่อสร้างด้วยคอกหมูถุงทรายซีเมนต์
      1.7 ก่อสร้างแบบหลักคอนกรีตหินทิ้ง
      1.8 ก่อสร้างแบบถุงทรายซีเมนต์
      1.9 ก่อสร้างแบบคันดิน
      1.10 ก่อสร้างแบบหลักไม้ไผ่สานขัดกัน อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน


  2. Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร
  ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้เป็นบางส่วน
  3. Check Dam แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก
  เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี
  นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัส ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับฝายต้นน้ำ (Check Dam ) ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
  พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  "...สำหรับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อย ก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก…"
  พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ตามพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่  "...เป้าหมายหลักของโครงการฯ แห่งนี้คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน โดยทดลองใช้วิธีการใหม่ เช่น วิธีการผันน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ ในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ แผ่ขยายตัวออกไป สำหรับน้ำส่วนที่เหลือก็จะไหลลงอ่างเก็บน้ำในระดับต่ำลงไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรมต่อไป ในการนี้ควรเริ่มปลูกป่าทดแทนตามแนวร่องน้ำ ซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่าบริเวณสันเขา ซึ่งจะทำให้เห็นผลโดยเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดกล้าไม้ และปลอดภัยจากไฟป่าด้วย เมื่อร่องน้ำดังกล่าวมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น ลำดับต่อไปก็ควรสร้างฝายต้นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อค่อย ๆ เก็บกักน้ำไว้แล้วส่งต่อท่อไม้ไผ่ส่งน้ำออกทั้งสองฝั่งร่องน้ำ อันเป็นการช่วยแผ่ขยายแนวความชุ่มชื้อออกไปตลอดแนวร่องน้ำ…"
  พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 ณ ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  "...ควรสร้างฝายลำธารตามร่องน้ำเพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและเก็บกักน้ำ สำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ…"
  ฉะนั้นจะเห็นว่าการก่อสร้างฝายหรือ Check Dam จึงเป็นแนวทางหรือวิธีการหนึ่ง ในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธาร เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ (Bio diversity) แก่สังคมของพืชและสัตว์ ตลอดจนนำความชุ่มชื้นมาสู่แผ่นดิน ซึ่งกรมป่าไม้ โดยส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ สำนักอนุรัาษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับฝายต้นน้ำ (Check Dam) เข้ามาบรรจุเป็นกิจกรรมหนึ่งในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ให้ฟื้นคืนสภาพทางนิเวศน์ที่เหมาะสม ต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ในงานการจัดการลุ่มน้ำ แผนงานอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ งานอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งหน่วยจัดการต้นน้ำต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำฝายต้นน้ำลำธารประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน และเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงประทับแรม ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยน้ำงุม หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของฝายต้นน้ำลำธารได้ทรงพระราชทานฝายต้นน้ำลำธารแก่กรมป่าไม้ เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินงานเกี่ยวกับฝายต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารต่อไป


Back to top

 

  2. วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างฝายต้นน้ำ  

  1. เพื่อช่วยลดความรุนแรงและอัตราเร่งของกระแสน้ำในลำธาร ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น สามารถบรรเทาความรุนแรงอันเกิดจากการกัดเซาะพังทลายของดิน บริเวณสองฝั่งลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ
  2. เพื่อช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำธารบนพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ช่วยยืดอายุของแหล่งน้ำทางตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง และคุณภาพของน้ำดีขึ้น
  3. เพื่อช่วยเพิ่มความหลากหลายทางด้านชีวภาพ (Bio – Diversity) ของระบบนิเวศน์ของป่าให้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเมื่อความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ความหนาแน่นของชนิดพันธุ์พืชต่างๆ มีมากขึ้นด้วย
  4. เพื่อช่วยกักเก็บน้ำไว้ เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคของมนุษย์และสัตว์ป่า ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และในการเกษตรกรรม


Back to top

 

  3. รูปแบบของฝายต้นน้ำลำธาร  

  ตามแนวพระราชดำริในการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ดักดินตะกอน เก็บกักน้ำซึ่งหากสามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณมากพอ ก็สมควรที่จะจ่ายน้ำออกไปรอบๆ พื้นที่บริเวณฝายในช่วงฤดูแล้ง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ต้นน้ำ ดังนั้น ในการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารแต่ละชนิด จึงมีวัตถุประสงค์และความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้าง ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นจึงได้แบ่งฝายต้นน้ำลำธารออกเป็น 3 ชนิดคือ


      3.1 ฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน
      3.2 ฝายต้นน้ำลำธารแบบกึ่งถาวร
      3.3 ฝายต้นน้ำลำธารแบบถาวร


Back to top

 

  4. แนวทางการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร  

1. การเลือกสถานที่ก่อสร้าง
  ในการเลือกจุดที่ก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากฝาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำ ด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ ด้านเกษตรกรรม ตลอดจนด้านชุมชน นอกจากนี้การกำหนดพื้นที่ที่จะก่อสร้าง ยังต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ความจำเป็น และความเหมาะสมอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย
  2. การเลือกวัสดุสำหรับก่อสร้าง
  รูปแบบของฝายต้นน้ำลำธาร สามารถแบ่งแยกออกตามวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็น2 แบบด้วยกัน คือ วัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น เศษไม้ ปลายไม้ และเศษวัชพืช หินขนาดต่าง ๆ ที่หาได้ในพื้นที่ และวัสดุที่จะต้องจัดซื้อ เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น กรวด ทราย การเลือกวัสดุแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและวัตถุประสงค์ รวมทั้งสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ และปัจจัยต่างๆ ในแต่ละจุด
3. การกำหนดขนาดของฝาย
  ขนาดของฝายไม่มีการกำหนดขนาดตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


      3.1 พื้นที่รับน้ำของแต่ละลำห้วย
      3.2 ความลาดชันของพื้นที่
      3.3 สภาพของดินและการชะล้างพังทลายของดิน
      3.4 ปริมาณน้ำฝน
      3.5 ความกว้าง-ลึกของลำห้วย
      3.6 วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง


4. วิธีการก่อสร้าง
  การก่อสร้างฝายแต่ละฝายขึ้นอยู่กับชนิดและวัสดุที่ใช้ ถ้าเป็นฝายผสมผสาน เช่น ฝายเศษไม้ และฝายกระสอบทราย เป็นเพียงการนำวัสดุดังกล่าวมาวางกองรวมกันเพื่อขวางร่องห้วย โดยใช้หลักเสาไม้ หรือเสาคอนกรีตปักยึดให้ลึกพอสมควรก็เพียงพอ เนื่องจากฝายดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับต้น ๆ ของลำห้วย ซึ่งมีปริมาณน้ำและความรุนแรงของการไหลไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องการความแข็งแรงนัก ประกอบกับฝายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกรองตะกอนไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่มีการเก็บกักน้ำ จึงสามารถสร้างได้ทั่ว ๆ ไปไม่มีข้อกำหนดมากนัก
  ส่วนฝายกึ่งถาวร และฝายถาวร เช่น ฝายหินเรียงและฝายคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ในการก่อสร้างควรเน้นเรื่องความแข็งแรงเป็นหลัก ควรมีการวางฐานรากที่แข็งแรงให้เพียงพอ โดยการเจาะลึกลงไปในพื้นที่ร่องห้วยให้ถึงดินแข็งหรือชั้นหินประมาณ 1 เมตร และมีสันฝายลึกเข้าไปในผนังร่องห้วยทั้งสองด้านอย่างน้อยข้างละ 1.00 - 1.50 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินในแต่ละห้วยด้วย หรืออาจใช้วิธีการอย่างอื่นเพื่อเสริมความแข็งแรงของตัวฝายให้มากขึ้นก็ได้ อนึ่งในการก่อสร้างฝายแต่ละชนิด ถ้าเป็นฝายกึ่งถาวรหรือฝายถาวรที่มีการเก็บกักน้ำ ควรคำนึงถึงทางระบายน้ำหรือทางน้ำล้นให้เพียงพอกันกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่เช่นนั้นอาจจะกระทบกระเทือนกับโครงสร้างของฝายนั้น ๆ ได้
 

Back to top

 

  5. ข้อควรคำนึงในการสร้างฝายหรือ Check Dam  

  1. ควรสำรวจสภาพพื้นที่วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติ และรูปแบบ Check Dam ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด
  2. ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลายเสียหายยามที่ฝนตกหนัก และกระแสน้ำไหลแรง
  3. ควรก่อสร้างในบริเวณลำห้วยที่มีความลาดชันต่ำ และแคบเพื่อจะได้ Check Dam ในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถกักน้ำและตะกอนได้
  4. วัสดุก่อสร้าง Check Dam ประเภทกิ่งไม้ ท่อนไม้ ที่นำมาใช้ในการสร้างจะต้องระมัดระวังใช้เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะใช้กิ่งไม้ ท่อนไม้ จากการริดกิ่ง ถ้าจำเป็นให้ใช้น้อยที่สุด


Back to top

 

  6. การบำรุงรักษาฝายต้นน้ำลำธาร  

  เนื่องจากฝายแต่ละชนิดมีการใช้วัสดุและมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน วัสดุ แต่ละอย่างที่ใช้อาจเสื่อมสลายตามธรรมชาติ ฉะนั้นควรมีการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และเป็นปกติในแต่ละปีก่อนฤดูฝนจะมาถึง เช่น ถ้าหากเป็นฝายเศษไม้ หรือฝายกระสอบทราย ควรมีการซ่อมแซมเสาหลักและเพิ่มเติมส่วนประกอบที่ชำรุด ส่วนฝายกึ่งถาวรและฝายถาวรนั้นควรหมั่นตรวจรอยรั่วซึมของน้ำบนตัวฝายตลอดจนสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นประจำทุกปี ส่วนฝายที่มีวัตถุประสงค์ในการเก็บกักน้ำเพื่อประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งถ้าหากมีตะกอนทับถมมากควรมีการขุดลอกเพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำได้เพียงพอ ซึ่งในการนี้จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาด้วย

Back to top

 


©สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๗ - ส่วนโครงการพระราชดำริและความมั่นคง ( กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช )