กรมป่าไม้
ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านการจัดการพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
เมื่อประมาณ 40 กว่าปีมาแล้ว กล่าวคือในปี พ.ศ. 2496
กรมป่าไม้ได้เริ่มจัดตั้งหน่วยงานสนามที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันต้นน้ำลำธารขึ้นเป็นครั้งแรก
ในรูปของสถานีวนกรรมป้องกันต้นน้ำลำธาร รวม 4 แห่ง
ในท้องที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และ สระบุรี
ต่อมาได้มีการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำเพิ่มขึ้นในรูปของสถานีทดลองเกี่ยวกับการวิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำที่
อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508
ได้มีการจัดตั้งงานวิจัยเพื่อรักษาต้นน้ำขึ้นที่ดอยเชียงดาวเป็นแห่งแรก
เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนางานในพื้นที่ลุ่มน้ำ
นอกเหนือไปจากนั้นยังได้มีการทดลองปลูกป่าปรับปรุงต้นน้ำควบคู่กันไปด้วย
ต่อจากนั้นได้มีการขยายงานเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ มาจนถึงปี พ.ศ.
2518 กรมป่าไม้
ได้เล็งเห็นว่างานปรับปรุงและพัฒนาต้นน้ำลำธารเป็นงานที่มีความสำคัญมีปริมาณที่มากขึ้น
จึงได้ยกระดับงานวิจัยเพื่อรักษาต้นน้ำขึ้นเป็นกองอนุรักษ์ต้นน้ำ
และในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการแบ่งส่วนราชการในกรมป่าไม้ใหม่
จึงเปลี่ยนชื่อเป็นส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนถึงปัจจุบัน
โดยแบ่งการบริหารงาน ออกเป็น 6 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
ฝ่ายสำรวจและวางแผน ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาต้นน้ำ ฝ่ายจัดการ
ต้นน้ำที่ 1 ฝ่ายจัดการต้นน้ำที่ 2 และฝ่ายจัดการต้นน้ำที่ 3
ซึ่งในการปฏิบัติงานภาคสนามนั้น ประกอบด้วยศูนย์จัดการต้นน้ำ
จำนวน 19 ศูนย์ และหน่วยจัดการต้นน้ำทั่วประเทศ จำนวน 189 หน่วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษอีกหลายโครงการ เช่น
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการวนศาสตร์ชุมชนบนพื้นที่สูง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
(ฝ่ายป่าไม้ ) และ โครงการจัดการลุ่มน้ำน่านตอนบน เป็นต้น
|