ไม้พุ่มหรือไม้ต้น อาจสูงได้ถึง 7 ม. กิ่งมีช่องอากาศ ยอดมียางเหนียว หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 4 มม. ปลายมีติ่งหนาม โคนมีขนและต่อม ใบเรียงตรงข้าม รูปรี ยาว 5–12 ซม. โคนมักเบี้ยว แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1–2 ซม. ช่อดอกแบบเชิงหลั่น แยกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ยาว 3–4 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ปลายมีติ่งหนาม ยาวประมาณ 3 มม. ดอกรูปดอกเข็ม หลอดกลีบดอกยาว 0.7–1 ซม. มี 5 กลีบ ยาว 5–8 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดเหนือจุดกึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น ก้านเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรรูปกระสวย ผลสดมีหลายเมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.7 ซม. เปลือกบาง มีช่องอากาศ
พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 250 เมตร
สกุล Vidalasia Tirveng. อยู่ในเผ่า Gardenieae ซึ่งรวมพืชบางชนิดในสกุล Gardenia และสกุล Randia เดิม มี 5 ชนิด พบที่พม่าตอนใต้ เวียดนามตอนบน และฟิลิปปินส์ ขึ้นเฉพาะตามเขาหินปูน ในไทยมี 3 ชนิด
|