Index to botanical names
Lamiaceae
ไม้เถา ใบประดับและส่วนต่าง ๆ ของดอกมีขนละเอียด ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบอ่อนมักมีสีเหลือง ก้านยาวได้ถึง 5 ซม. ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว 6–17 ซม. โคนมนหรือกลม เส้นแขนงใบออกใกล้โคน 1–2 คู่ เรียวโค้งจรดกัน ก้านใบยาว 1–3 ซม. ด้านบนเป็นร่อง ใบประดับคล้ายใบ สีเหลืองอมเขียว รูปไข่ ยาว 1.5–3.5 ซม. มีก้านยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ห้อยลง ยาวได้กว่า 1 ม. ช่อย่อยเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากห่าง ๆ ยาว 6–12 ซม. ก้านยาว 1–3 ซม. แขนงย่อยเรียงตรงข้าม ยาว 4–10 ซม. ก้านสั้น ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับแต่ขนาดเล็กกว่า ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3 มม. กลีบเลี้ยงสีเหลือง มี 5 กลีบ แฉกลึก รูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ดอกสีขาวหรืออมเหลือง กลีบรูปปากเปิด ยาวประมาณ 2.5 ซม. กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ กลีบรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 5 มม. เกสรเพศผู้อันสั้น 2 อัน อันยาว 2 อัน ยาว 2.5–2.8 ซม. อับเรณูยาวประมาณ 1.5 ซม. รังไข่มี 2 ช่องไม่สมบูรณ์ ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.3 ซม. ยอดเกสรแยก 2 แฉกตื้น ๆ ผลแห้งแตก เรียวแคบ ปลายตัด ยาวประมาณ 8 มม. มีริ้ว มี 1–2 เมล็ดมีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู เป็นไม้ประดับทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากไม่ติดผล ในไทยสวนนงนุชนำไปขยายพันธุ์และเผยแพร่ จึงรู้จักกันในชื่อ Nongnooch’s Vine ชื่อสามัญอีกชื่อ คือ Wolf’s Vine ตามคำระบุชนิด ลักษณะทั่วไปคล้ายกับ P. bambusetorum King & Gamble ที่พบในมาเลเซียเช่นเดียวกัน ใบประดับสีเขียวหรือเทา ช่อดอกออกตามกิ่งพิเศษหรือซอกใบที่ใบร่วงสกุล Petraeovitex Oliv. มีประมาณ 8 ชนิด พบเฉพาะในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบเป็นไม้ประดับชนิดเดียว ชื่อสกุลหมายถึงพืชที่คล้ายกับสกุล Petrea ที่กลีบเลี้ยงที่ขยาย และสกุล Vitex ตามลักษณะดอก
ชื่อสามัญ Wolfei’s vine
ชื่ออื่น มาลัยทอง, มาลัยนงนุช (ทั่วไป)
มาลัยทอง: ช่อดอกแบบช่อกระจะ แยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อย่อยเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากห่างกัน ใบประดับคล้ายใบสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกรูปปากเปิด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
Munir, A.A. (1965–1966). A revision of Petraeovitex (Verbenaceae). Gardens’ Bulletin Singapore 21: 215–257.
Sinclair, J. (1956). Two new Malayan species, Justicia johorensis and Petraeovitex wolfei. Gardens’ Bulletin Singapore 15: 18.