สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



มะกล่ำตาหนู
วันที่ 30 มีนาคม 2560

Abrus precatorius L.

Fabaceae

ไม้เถา มีขนประปรายกระจายทั่วไป ขนหนาแน่นตามช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และผล หูใบยาว 3–5 มม. ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ยาว 0.5–2 ซม. ปลายตัด มีติ่งหรือมน โคนกลม ก้านใบยาวประมาณ 1 มม. ช่อดอกยาว 2–8 ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยยาว 0.5–1 มม. ดอกสีม่วง กลีบกลางรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม. มีก้าน ปลายเว้า กลีบปีกและคู่ล่างเรียวแคบกว่า รังไข่และก้านเพศเมียมีขนหนาแน่น ฝักรูปขอบขนาน ยาว 2–4 ซม. มี 2–6 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มม. โคนสีดำ ช่วงปลายสีแดง

พบทั่วไปในเขตร้อน ขึ้นตามชายป่าและเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร เมล็ดแข็งเป็นมันวาว มีพิษร้ายแรงถึงชีวิต ใช้ทำเครื่องประดับ ส่วนอื่น ๆ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง

ชื่อสามัญ  Crab’s eye vine, Rosary pea

ชื่ออื่น   กล่ำเครือ, กล่ำตาไก่ (เชียงใหม่); เกมกรอม (สุรินทร์); ชะเอมเทศ, ตากล่ำ (ทั่วไป); มะกล่ำเครือ, มะกล่ำแดง (เชียงใหม่); มะกล่ำตาหนู (ทั่วไป); มะขามเถา (ตรัง); มะแค๊ก (เชียงใหม่); ไม้ไฟ (ตรัง); หมากกล่ำตาแดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

มะกล่ำตาหนู: ใบประกอบมีใบย่อย 8–16 คู่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกหนาแน่น ดอกสีม่วง เมล็ดโคนสีดำ ช่วงปลายสีแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Bao, B. and M. Gilbert. (2010). Fabaceae (Abrus). In Flora of China Vol. 10: 194.

Verdcourt, B. (1979). A manual of New Guinea legumes. Botany Bulletin 11: 515–529.