สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



บอนเปรี้ยว
วันที่ 15 ธันวาคม 2559

Remusatia pumila (D.Don) H.Li & A.Hay

Araceae

ไม้ล้มลุก อิงอาศัยหรือขึ้นบนดิน สูงได้ถึง 25 ซม. หัวใต้ดินเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2.5 ซม. มีไหลหน่อย่อย ส่วนมากแยกแขนง หน่อย่อยมีเกล็ดหุ้มและขนแข็งรูปตะขอ ใบมี 3–4 ใบ รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 8–23 ซม. โคนใบแบบก้นปิดรูปหัวใจตื้น ๆ แผ่นใบบางครั้งมีลายสีม่วง เส้นโคนใบข้างละ 4–5 เส้น ก้านใบยาว 15–40 ซม. โคนมีกาบ ช่อดอกส่วนมากมีช่อเดียว ออกพร้อมผลิใบ ก้านช่อยาว 6–10 ซม. คอดเว้า 2 ครั้ง หลอดกาบยาว 1–1.5 ซม. ปากบานออก กาบยาว 13–21 ซม. กาบล่างกลม ๆ ยาว 1.5–2.5 ซม. เปิดออกช่วงเกสรเพศผู้ ปลายเรียวแหลม ยาว 11–21 ซม. เปิดออกช่วงสั้น ๆ ช่อดอกสั้นกว่ากาบมาก ยาว 2–2.5 ซม. ช่วงดอกเพศผู้รูปกระบอง ยาวประมาณ 1 ซม. สีเหลืองครีมเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมเทา ช่วงของดอกเพศเมีย ยาว 5–8 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเรียงเป็นวง ยาว 4–5 มม. ผลกลุ่มทรงรี มีกาบหุ้ม ผลย่อยสุกสีแดง เมล็ดมีเยื่อหุ้มหนา

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ และพม่า ในไทยพบมากทางภาคเหนือที่เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ตาก ขึ้นตามโขดหินหรือบนดินที่เป็นหินปูนในป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 2200 เมตร

สกุล Remusatia Schott มี 4 ชนิด พบในแอฟริกา มาดากัสการ์ เอเชีย และออสเตรเลีย ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ ว่านสุบิน R. vivipara (Roxb.) Schott ช่อดอกคอดครั้งเดียว ไหลหน่อย่อยไม่แยกแขนง การกระจายกว้างกว่า ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jean-Pierre Abel-Rémusat (1788–1832)

ชื่อพ้อง  Caladium pumilum D.Don, Remusatia garrettii Gagnep.

ชื่อสามัญ  Dwarf hitchiker elephant ear

ชื่ออื่น   บอนเปรี้ยว (เชียงใหม่); บอนผา (ลำปาง)

บอนเปรี้ยว: ไม้ล้มลุก อิงอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน ออกดอกพร้อมใบ แผ่นใบมีลายสีม่วง มีไหลหน่อย่อย กาบช่อคอดเว้า 2 ครั้ง ช่วงดอกเพศผู้รูปกระบอง สีม่วงอมเทา (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Boyce, P.C. and D. Sookchaloem. (2012). Araceae (Remusatia). In Flora of Thailand Vol. 11(2): 264–267.