Index to botanical names
Irvingiaceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. โคนต้นมีพูพอนตื้น ๆ หูใบเรียวยาวหุ้มยอด ยาว 1.5–3 ซม. ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 3–20 ซม. โคนเบี้ยวเล็กน้อย เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันไดกึ่งร่างแหละเอียด ก้านใบยาว 0.5–2 ซม. เป็นสันด้านบน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 5–15 ซม. ใบประดับรูปไข่ขนาดเล็ก ก้านดอกยาว 1–3 มม. ดอกสีขาวอมเขียว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอกยาวกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 มม. จานฐานดอกรูปเบาะ ขอบจักตื้น ๆ รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละคาร์เพลมีออวุล 1 เม็ด ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3–6 ซม. ผนังชั้นนอกเป็นเส้นใย ผนังชั้นในแข็งหนาประมาณ 5 มม.พบในอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ความสูงถึงประมาณ 1500 เมตร ไม้ทำถ่านให้ความร้อนสูง เมล็ดให้น้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมทำสบู่และเทียนไข นำไปคั่วรับประทานได้สกุล Irvingia Hook.f. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Simaroubaceae หรือ Ixonanthaceae มีประมาณ 7 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกา หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลตั้งตามศัลยแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวสกอตแลนด์ Edward George Irving (1816–1855)
ชื่อสามัญ Wild almond
ชื่ออื่น กระบก, กะบก, จะบก, ตระบก (ภาคกลาง); จำเมาะ (เขมร); ซะอัง (ชอง-ตราด); บก, หมักลื่น, หมากบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะมื่น, มื่น (ภาคเหนือ); มะลื่น (นครราชสีมา, สุโขทัย); หลักกาย (ส่วย-สุรินทร์)
กระบก: หูใบเรียวยาว หุ้มยอด เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันไดกึ่งร่างแหละเอียด (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
Nooteboom, H.P. (1972). Simaroubaceae. In Flora Malesiana Vol. 6: 223–226.
Phengklai, C. (1981). Irvingiaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(4): 398–399.