สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

จอกหูหนู

จอกหูหนู
วันที่ 26 สิงหาคม 2559 แก้ไขข้อมูล 6 กันยายน 2559

Salvinia cucullata Roxb. ex Bory

Salviniaceae

เฟินลอยบนน้ำ มีไหลสั้น ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 มม. มีขนสีน้ำตาล แต่ละข้อมี 3 ใบ เรียงหนาแน่น สองใบไม่สร้างสปอร์ ลอยบนผิวน้ำ รูปร่างค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 1.2–1.5 ซม. โคนใบด้านข้างโค้งเข้าหากัน ขอบเรียบ แผ่นใบหนานุ่ม ด้านบนมีปุ่มกระจาย ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลประปราย เส้นใบสานกันเป็นร่างแห ใบใต้น้ำสร้างสปอร์ เป็นเส้นคล้ายราก ยาว 3–5 ซม. สปอโรคาร์ปเกิดที่ใบใต้น้ำเป็นกลุ่ม ๆ ละ 6–8 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. มี 2 อัน ที่สร้างเมกะสปอร์

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นหนาแน่นในหนองน้ำที่เป็นที่โล่ง ทั้งต้นใช้เลี้ยงหมูและทำปุ๋ยหมัก

สกุล Salvinia Ség. มีประมาณ 10 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาและแอฟริกา ในไทยมีอีก 2 ชนิด คือ จอกหูหนู S. molesta D. S. Mitch. ใบใหญ่เรียงหนาแน่น และแหนใบมะขาม S. natans (L.) All. แผ่นใบบาง ด้านบนมีขนคล้ายหนามหนาแน่น ซึ่งทั้งสองชนิดมีเขตการกระจายพันธุ์กว้างเช่นเดียวกัน ชื่อสกุลตั้งตามศาสตราจารย์ด้านกรีกศึกษาชาวอิตาลี Antonio Maria Salvini (1633–1729)เพื่อนของนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี Pier’ Antonio Micheli (1679–1737)

หมายเหตุ  ภาพในหนังสือเป็นจอกหูหนูชนิด Salvia molesta D. S. Mitch.

ชื่อสามัญ  Asian watermoss, Eared watermoss

จอกหูหนู: เฟินขึ้นในน้ำ แผ่นใบหนา ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Lin, Y., S. Lei, M. Funston and M.G. Gilbert. (2013). Salviniaceae. In Flora of China Vol. 2–3: 125.

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Salviniaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(4): 603–604.