สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

คดนกกูด

คดนกกูด
วันที่ 17 สิงหาคม 2559

Aralidium pinnatifidum (Jungh. & de Vriese) Miq.

Torricelliaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 17 ม. แยกเพศต่างต้น ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 25–40 ซม. เรียบหรือแฉกลึกจรดเส้นกลางใบ ขอบเรียบ ก้านใบยาว 5–12 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 50 ซม. มีขนและปุ่มหนาแน่น ใบประดับขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกย่อยมี 1–5 ดอก ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียคล้ายกัน เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. เป็นหมันในดอกเพศเมีย รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง 2 ช่องฝ่อ ออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียส่วนมาก 3 อัน กางออก สั้นกว่าก้านชูอับเรณู ผลสดมีเมล็ดเดียว รูปรี เบี้ยว ยาว 2.5–4 ซม. สีขาวเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อหนา เมล็ดยาว 2–2.5 ซม. มีริ้ว เอนโดเสปิร์มย่น

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว และภาคใต้ของไทย ขึ้นตามริมลำธารหรือที่ลาดชันในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1250 เมตร

สกุล Aralidium Miq. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Aralidiaceae หรือ Araliaceae มีชนิดเดียว ชื่อสกุลหมายถึงสกุลที่คล้ายกับสกุล Aralia

ชื่อพ้อง  Aralia pinnatifida Jungh. & de Vriese

ชื่ออื่น   คดนกกูด (พังงา); ปูนิงบองอ (มาเลย์-นราธิวาส); พรมคด (ภาคใต้); พะปูงะ (มาเลย์-ยะลา); มือพระนารายณ์ (ปัตตานี); สาเกเถื่อน (สุราษฎร์ธานี)

คดนกกูด: ช่อดอกแบบกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ใบแฉกลึกจรดเส้นกลางใบ ผลรูปรี เบี้ยวเล็กน้อย สีขาว สุกสีม่วงดำ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Esser, H.J. and M. Jebb. (2005). Aralidiaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(1): 7–9.

Philipson, W.R. (1979). Araliaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 14–16.