Index to botanical names
ก่อเดือย
Fagaceae
ไม้ต้น แยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศเมียออกที่โคนช่อเพศผู้ หรือแยกคนละช่อ ตายอดมีเกล็ดเรียงซ้อนตรงข้ามสลับตั้งฉากหุ้ม กิ่งมีช่องอากาศ หูใบร่วงง่าย ใบเรียงเวียนหรือเรียงสลับระนาบเดียว ปลายใบส่วนมากแหลมยาว เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ขอบใบเรียบหรือจักซี่ฟัน ก้านใบเป็นข้อ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอก ตั้งขึ้น ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงเร็ว กลีบรวม 6 กลีบ ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 12 อัน เป็นหมันในดอกเพศเมีย ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก 3–7 ดอกในแต่ละกาบ รังไข่ใต้วงกลีบ มี 3 ช่อง เป็นหมันในดอกเพศผู้ มักมีขน แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ก้านเกสรเพศเมีย 3 อัน ผลแบบเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี 1–4 ผลในแต่ละกาบ กาบแห้งแตกหรือแยกออก มีหนามกระจุก หนามเป็นตุ่ม หรือผิวเรียบเรียงเป็นวงสกุล Castanopsis มี 110–120 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเอเชียเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยมี 33 ชนิด ชื่อสกุลหมายถึงคล้ายกับสกุล Castanea ซึ่งมาจากภาษากรีก “kastana” ที่ใช้เรียก เกาลัด C. sativa Mill. หรือ Chesnut tree
ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5.5–13 ซม. ขอบจักซี่ฟันช่วงปลายใบ แผ่นใบด้านล่างสีเขียวเทาหรือสีน้ำตาล ดอกเพศผู้และเพศเมียส่วนมากแยกคนละช่อ ช่อดอกยาว 8–15 ซม. ช่อดอกเพศผู้แตกแขนงจำนวนมาก ดอกส่วนมากออกเดี่ยว ๆ ช่อดอกเพศเมียส่วนมากไม่แตกแขนง ผลรูปกลมหรือรูปไข่ กว้าง 0.8–1.3 ซม. สูง 1–1.5 ซม. รวมกาบหุ้ม กาบหุ้มทั้งผล ผิวมีหนามโค้งเล็กน้อย แต่ละกาบมีผลเดียว พบที่อินเดีย พม่า ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย นิวกินี ขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 800–1400 เมตร ไม้นิยมใช้เพาะเห็ดหอม ผลคั่วกินเนื้อข้างใน
ชื่อพ้อง Castanea acuminatissima Blume
ชื่ออื่น ก่อกินหน่วย (ภาคตะวันออก); ก่อเดือย (เชียงใหม่); ก่อหนาม, ก่อแหลม (ภาคเหนือ); ก่อหมัด (เลย, เพชรบูรณ์); ก่ออิด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ก่อเดือย: แผ่นใบด้านล่างสีน้ำตาล ช่อดอกเพศผู้แตกแขนง กาบหุ้มทั้งผล ผิวมีหนามโค้งเล็กน้อย แต่ละกาบมีผลเดียว (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Huang, C., Y. Zhang and B. Batholomew. (1999). Fagaceae. In Flora of China Vol. 4: 317.
Phengklai, C. (2008). Fagaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(3): 180–243.