สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กูดใบพีช

กูดใบพีช
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Goniophlebium persicifolium (Desv.) Bedd.

Polypodiaceae

เฟินขึ้นบนดินหรือเกาะหิน เหง้าทอดนอน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–6 มม. เกล็ดสีน้ำตาล รูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. ปลายยาวคล้ายหาง ใบประกอบชั้นเดียว รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ยาว 40–60 ซม. ก้านใบยาว 17–40 ซม. มีเกล็ดประปราย มีใบย่อยได้ถึงข้างละ 20 ใบ เรียงสลับ รูปแถบหรือรูปใบหอก กว้าง 1–2 ซม. ยาว 14–20 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อย ก้านใบย่อยยาวประมาณ 5 มม. แผ่นใบด้านล่างมีขนรูปดาวประปราย เส้นแขนงใบแบบร่างแห กลุ่มอับสปอร์กลม จมอยู่ในเนื้อใบและเรียงตัวเป็นแถวทั้งสองด้านของเส้นกลางใบย่อย ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

พบที่เวียดนาม คาบสมุทรมาลายู สุมาตรา ซีลีเบส และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามที่ลาดชันหรือบนต้นไม้ ความสูง 400–1500 เมตร ชื่อไทยมาจากคำระบุชนิด persicifolium หมายถึงมีใบคล้ายใบต้นพีชที่เรียวยาว

สกุล Goniophlebium (Blume) C.Presl มีประมาณ 20 ชนิด ส่วนมากพบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 8 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gonia” มุม และ “phleps” เส้นใบ ตามลักษณะของเส้นใบแบบร่างแห

ชื่อพ้อง  Polypodium persicifolium Desv., Schellolepis persicifolia (Desv.) Pic.Serm.

กูดใบพีช: ใบประกอบชั้นเดียว มีใบย่อยจำนวนมาก กลุ่มอับสปอร์กลม จมอยู่ในเนื้อใบและเรียงตัวเป็นแถวทั้งสองด้านของเส้นกลางใบย่อย ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1989). Polypodiaceae (Polypodium persicifolium). In Flora of Thailand 3(4): 574.