สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กุหลาบพุกาม

กุหลาบพุกาม
วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

Leuenbergeria bleo (Kunth) Lodé

Cactaceae

ไม้พุ่ม แตกกอ สูงได้ถึง 5 ม. ขุมหนามตามลำต้นโป่งนูน ตามซอกใบมีหนามน้อยกว่าตามลำต้น หนามยาว 1–1.5 ซม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–15 ซม. ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 4–6 เส้น ดอกออกตามขุมหนามที่ปลายกิ่ง มี 1–5 ดอก ฐานดอกรูปถ้วย ยาว 1–1.5 ซม. ใบประดับคล้ายเกล็ด ก้านดอกสั้น หนา ดอกสีส้ม กลีบรวมจำนวนมาก เรียงเป็นวง ๆ รูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 2–3 ซม. วงนอกสีเขียวขนาดเล็ก และหนา เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน อันยาวยาวได้ถึง 1.5 ซม. โคนสีขาว ปลายสีแดง อับเรณูสีขาว รังไข่ใต้วงกลีบ ก้านเกสรเพศเมียหนา สั้นกว่าหรือยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ผลสดมีหลายเมล็ด รูปกรวยคว่ำ ปลายตัด กลางบุ๋ม กว้างและยาวเท่า ๆ กัน ยาว 4–5 ซม. ผนังหนา เมล็ดแบน สีดำ ผิวขรุขระ

มีถิ่นกำเนิดในโคลัมเบีย ปานามา และนิการากัว เป็นไม้ประดับทั่วไป

สกุล Pereskia Mill. ต่างจากสกุลอื่น ๆ ที่ส่วนมากใช้ลำต้นในการสังเคราะห์ด้วยแสง มี 17 ชนิด พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ กุหลาบเมาะลำเลิง P. grandifolia Haw. ช่อดอกแผ่กว้างดอกสีชมพู มี 6–8 กลีบ เชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Nicolas-Claude Fabri de Peires

ชื่อพ้อง  Cactus bleo Kunth, Pereskia bleo (Kunth) DC.

กุหลาบพุกาม: ขุมหนามตามลำต้นโป่งนูน ตามซอกใบมีหนามน้อยกว่า กลีบรวมสีส้มจำนวนมาก เรียงเป็นวง ๆ ผลรูปกรวยคว่ำ ปลายตัด กลางบุ๋ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. (2547). อนุกรมวิธานพืชอักษร ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ.

Hawkes, M.W. (2004). Cactaceae (Pereskia). In Flora of North America Vol. 4: 101. http://www.efloras.org