สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กากหมาก

กากหมาก
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte

Balanophoraceae

ไม้ล้มลุกกินซาก แยกเพศต่างต้น สูง 10–25 ซม. เหง้าแตกแขนง ผิวมีตุ่มรูปดาวทั่วไป ใบเรียงสลับระนาบเดียวห่าง ๆ 3–6 ใบ ช่อดอกเพศผู้เรียวแคบ ยาว 5–9 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2.5 ซม. ใบประดับรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ 5 มม. บางครั้งคล้ายแยก 2 แฉก ก้านดอกยาว 1.5–6 มม. กลีบรวมส่วนมากมี 4–5 กลีบ รูปไข่ ขนาดไม่เท่ากัน เรียง 2 แถว พับงอกลับ กลีบข้างยาว 3–3.5 มม. กลีบกลางกว้างยาว 3–4 มม. อับเรณูยาวประมาณ 5 มม. ช่อดอกเพศเมียคล้ายรูปทรงกระบอก ยาว 1–7 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–2 ซม.

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในไทยพบทุกภาค ขึ้นเบียนรากพืชอื่นตามถิ่นที่อยู่หลากหลายรวมทั้งเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร

ชื่อพ้อง  Balaniella latisepala Tiegh.

กากหมาก: ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อเชิงลด ใบประดับรูปไข่กว้าง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

กากหมากตาฤาษี  สกุล
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Balanophora J.R.Forst. & G.Forst.

Balanophoraceae

ไม้ล้มลุกกินซาก เบียนราก ไม่มีคลอโรฟิลล์ ไม่มีระบบราก ส่วนหัวติดกับรากพืชที่ให้อาศัย แยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ใบคล้ายเกล็ด เรียงเวียน เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก หรือเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกออกที่ปลายลำต้น รูปรี รูปไข่กลับ กลม หรือคล้ายรูปกระบอง ใบประดับคล้ายกาบ ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อเชิงลดหรือช่อกระจะ ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อเชิงลด ดอกเพศผู้กลีบรวมส่วนมากมี 3–6 กลีบ ใบประดับย่อยปลายตัด เกสรเพศผู้ 3–5 อัน เชื่อมติดกัน ดอกเพศเมียจำนวนมาก ไม่มีกลีบรวม รังไข่มีช่องเดียว ติดบนแกนช่อดอก ก้านเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดทน ผลแห้งไม่แตก ขนาดเล็ก

สกุล Balanophora มีประมาณ 15 ชนิด ส่วนใหญ่พบในเขตร้อน ในไทยมี 5–6 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “balanos” กาบรูปถ้วย และ “phoros” เกิด ตามลักษณะช่อผลที่มีใบประดับคล้ายกาบรูปถ้วย


กากหมากตาฤาษี
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Balanophora fungosa J.R.Forst. & G.Forst.

Balanophoraceae

ไม้ล้มลุกกินซาก แยกเพศต่างต้น หัวใต้ดินออกเดี่ยว ๆ หรือแยกแขนงจำนวนมาก กลม ๆ ผิวมีตุ่มรูปดาวกระจาย ใบเรียงเวียน เรียงซ้อนเหลื่อม 10–20 ใบ ช่อดอกเพศผู้รูปรีกว้าง ยาวได้ถึง 12 ซม. ใบประดับคล้ายกาบรูปรีกว้าง ปลายตัด ยาวประมาณ 5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 0.7–1 ซม. กลีบรวมมี 4–5 กลีบ รูปรีแกมรูปใบหอก ยาว 3–7 มม. เกสรเพศผู้ 4–5 อัน คล้ายรูปเกือกม้า ช่อดอกเพศเมียรูปรีหรือรูปไข่กลับ มักมีขนาดเล็กกว่าช่อดอกเพศผู้ ยาวได้ถึง 6 ซม.

พบที่อินเดีย ไห่หนาน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร มีความผันแปรสูง บางครั้งแยกเป็น 2 ชนิดย่อยตามลักษณะหัวใต้ดินและช่อดอก ยางเหนียวจากหัวใต้ดินใช้ทำกับดักนก ใช้เป็นคบไฟ

ชื่ออื่น   กกหมากพาสี (เชียงใหม่); กากหมากตาฤๅษี (ตราด); ขนุนดิน (ทั่วไป); ดอกกฤษณารากไม้ (ประจวบคีรีขันธ์); บัวผุด (ชุมพร); ว่านดอกดิน (สระบุรี); เห็ดหิน (เลย)

กากหมากตาฤๅษี: ช่อดอกเพศผู้มี 3 ดอก ขนาดใหญ่กว่าช่อดอกเพศเมีย ใบประดับคล้ายกาบ (ภาพ: Hans Bänziger)



เอกสารอ้างอิง

Hansen, B. (1972). Balanophoraceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 177–181.

Perry, L.M. (1980). Medicinal plants of East and Southeast Asia. Massachusetts Institute of Technology.