สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กะตังใบ

กะตังใบ  สกุล
วันที่ 29 เมษายน 2559

Leea D.Royen ex L.

Vitaceae

ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม รอเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก หูใบส่วนมากมีครีบคล้ายปีก ร่วงเร็ว ใบเดี่ยวหรือใบประกอบ เรียงสลับระนาบเดียว แกนกลางมักมีครีบเป็นปีกแคบ ๆ เส้นใบแบบขั้นบันได ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตรงข้ามใบ ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ส่วนมากร่วงเร็ว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงหนา ปลายจักตื้น ๆ ติดทน กลีบดอกพับงอกลับ แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาว เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นแผ่นบาง แกนอับเรณูหนา ไม่มีจานฐานดอก รังไข่มี 4–8 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดดียว เกลี้ยง ผลสด ส่วนมากมี 4–6 เมล็ด

สกุล Leea เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Leeaceae ปัจจุบันอยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Leeaoideae มีประมาณ 34 ชนิด พบในแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยมี 11 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพืชสวนชาวสกอตแลนด์ James Lee (1715–1795) หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร


กะตังใบ
วันที่ 29 เมษายน 2559

Leea indica (Burm.f.) Merr.

Vitaceae

ไม้พุ่ม รอเลื้อย หรือไม้ต้น สูงได้ถึง 7 ม. กิ่งมีช่องอากาศ หูใบมีปีกรูปไข่กลับ ยาวได้ถึง 6 ซม. ใบประกอบ 1–3 ชั้น ใบประกอบย่อยมีได้ถึง 4 คู่ แกนกลางยาว 9–70 ซม. ก้านยาว 7–34 ซม. ใบย่อยรูปไข่ แกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 30 ซม. ขอบจักซี่ฟัน ก้านใบยาว 0.2–2 ซม. ช่อดอกส่วนมากยาวได้ถึง 27 ซม. แผ่กว้าง ก้านช่อยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกสีเขียวอ่อนหรืออมเหลือง ก้านดอกยาว 0.5–1.5 มม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วยยาวประมาณ 2 มม. ปลายจักตื้น ๆ กลีบดอกยาว 3–4 มม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง หลอดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาว 1.2–2.2 มม. โคนแยกกัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–2 มม. ผลจักเป็นพูเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9–1 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแดง

พบตั้งแต่อินเดีย ถึงออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นหลากหลายสภาพป่า ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร คล้ายกับ กระตังใบแดง L. rubra Blume และ L. guineensis G.Don ซึ่งทั้งสองชนิดมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีแดง

ชื่อสามัญ  Common tree-vine

ชื่ออื่น   กะตังใบ (ทั่วไป); คะนางใบ (ตราด); ช้างเขิง (เงี้ยว); ดังหวาย (นราธิวาส); ตองจ้วม, ตองต้อม (ภาคเหนือ); บังบายต้น (ตรัง)

กะตังใบ: กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียว ผลกลมหรือจักเป็นพูเล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กะตังใบเตี้ย
วันที่ 29 เมษายน 2559

Leea thorelii Gagnep.

Vitaceae

ไม้ล้มลุก ทอดนอนหรือตั้งตรง สูงได้ถึง 1 ม. มีหัวใต้ดิน มีขนกระจายตามแผ่นใบ ก้านใบ และช่อดอก หูใบติดบนก้านใบเป็นปีกแคบ ๆ ยาว 1–3 ซม. ใบประกอบมี 3 ใบย่อยหรือมีใบประกอบย่อย 1–3 ใบ แกนกลางยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านใบยาว 3–10 ซม. ใบย่อยมีหลายรูปแบบ ยาวได้ถึง 12 ซม. ขอบจักฟันเลื่อย โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 8 มม. มีปีกแคบ ๆ ช่อดอกแบบช่อกระจุก แผ่กว้าง ก้านช่อยาว 1–5 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 1–1.2 มม. ปลายจักตื้น ๆ กลีบดอกยาว 2–3 มม. แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง หลอดเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวเท่า ๆ ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 1–2 มม. ผลจักเป็นพู เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–8 มม. สุกสีม่วงดำ

พบเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ความสูง 100–400 เมตร

ชื่ออื่น   กะตังใบเตี้ย (ทั่วไป); เขืองแข็งม้า (นครราชสีมา)

กะตังใบเตี้ย: ไม้ล้มลุกทอดนอน มีหัวใต้ดิน ใบประกอบมีใบประกอบย่อย 1–3 ใบ กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ผลจักเป็นพู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chen, Z. and J. Wen. (2007). Leeaceae. In Flora of China Vol. 12: 169–170.

van Welzen, P.C. (2010). Leeaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(2): 209–230.