สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระเช้า

กระเช้าสีดา
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Platycerium coronarium (J.Koenig ex O.F.Müll.) Desv.

Polypodiaceae

ดูที่ ห่อข้าวสีดา

กระเช้าสีดา  สกุล
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia L.

Aristolochiaceae

ไม้เถาล้มลุก ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม้พุ่มทอดนอน ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียน เรียบ จัก 3 พู หรือรูปฝ่ามือ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อกระจุกหรือช่อแยกแขนง บางครั้งมีดอกเดียว ออกตามซอกใบ ปลายกิ่ง ตามกิ่ง หรือเถา ก้านดอกเชื่อมติดรังไข่ กลีบรวมเชื่อมติดกัน โคนเป็นกระเปาะ ส่วนมากกลม คอดเรียวเป็นหลอด มักงอขึ้น ปลายกลีบบานออก เกสรเพศผู้ 6 อัน แนบติดก้านเกสรเพศเมียเป็นเส้าเกสร รังไข่ใต้วงกลีบ มี 6 ช่อง ส่วนมากรูปทรงกระบอก มี 6 สัน ยอดเกสรเพศเมียมี 3 หรือ 6 พู ผลแตกตามรอยประสานจากโคนสู่ปลาย โคนก้านและปลายติดกันคล้ายกระเช้า เมล็ดจำนวนมาก แบน มีปีกหรือไม่มี ส่วนมากมีตุ่มกระจายด้านเดียวหรือสองด้าน

สกุล Aristolochia มีประมาณ 500 ชนิด พบในเขตร้อน ในไทยมีพืชพื้นเมือง 22 ชนิด และเป็นไม้ประดับประมาณ 5 ชนิด ผลมีสาร Aristolochic acid มีพิษสูง มีการนำรากของพืชสกุลกระเช้าสีดาหลายชนิดมาขายเป็นสมุนไพรลดน้ำหนักในชื่อ ไคร้เครือ ใบหลายชนิดเป็นอาหารหนอนผีเสื้อ ชื่อกระเช้าสีดาเป็นชื่อที่ใช้เรียก A. indica L. ของอินเดียและศรีลังกา มีนำเข้ามาปลูกบ้างในไทยแต่ไม่แพร่หลายมากนัก ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aristos” ดีที่สุด และ “locheia” การกำเนิด หมายถึงพืชที่ี่มีสรรพคุณด้านสมุนไพรช่วยให้คลอดง่าย


กระเช้าสีดา
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia acuminata Lam.

Aristolochiaceae

ดูที่ กระเช้าผีมด

กระเช้าใบแคบ
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia perangustifolia Phuph.

Aristolochiaceae

ไม้เถา ใบรูปใบหอก ยาว 5.5–8.5 ซม. โคนเว้าลึกรูปหัวใจ แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่มและต่อมกระจาย เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบยาว 1.5–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 5.5–8 ซม. มีขนละอียด ใบประดับรูปแถบ ยาว 6–8 มม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านดอกยาว 0.6–1.2 ซม. ดอกสีครีม หลอดกลีบดอกยาว 6–8 มม. ปลายกลีบเรียวแคบรูปแถบ ยาว 2–2.5 ซม. ปลายเรียวแหลม กระเปาะกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 มม. ระหว่างยอดเกสรเพศเมียและอับเรณู จัก 6 พู เป็นสันตามยาว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ผานกเค้า จังหวัดขอนแก่น ผาผึ้ง จังหวัดชัยภูมิ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่ไทยประจัน จังหวัดราชบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 200–450 เมตร

กระเช้าใบแคบ: กลีบรวมสีเขียวอ่อน ปากกลีบสีแดงอมน้ำตาล ปลายเรียวแคบรูปแถบ (ภาพ: นัยนา เทศนา)

กระเช้าคลองพนม
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia kongkandae Phuph.

Aristolochiaceae

ไม้เถา ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 5–7.5 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 2–3 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 2–3 เส้น ก้านใบยาว 3–7 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 1.5–5 ซม. ก้านช่อสั้น มีได้ถึง 10 ดอก ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 1–2 มม. ก้านดอกยาว 5–7 มม. ดอกสีครีมอมแดง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลีบบานออก รูปขอบขนาน ด้านในสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1.5 ซม. กระเปาะรูปรี ยาวประมาณ 5 มม. เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 มม. ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 มม. เมล็ดรูปสามเหลี่ยมมีตุ่มกระจาย ไม่มีปีก

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่เขาสกและคลองพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นเกาะเลื้อยตามใต้ร่มเงาหน้าผาหินปูน ความสูง 100–200 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อดร.ก่องกานดา ชยามฤต นักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กระเช้าคลองพนม: ขึ้นเกาะเลื้อยตามหน้าผาหินปูน ก้านใบยาว กลีบด้านในสีเข้ม ผลขนาดเล็ก (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

กระเช้าถุงทอง
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia pothieri Pierre ex Lecomte

Aristolochiaceae

ไม้เถา เกลี้ยง หรือมีขนละเอียดตามลำต้น ก้านใบ และช่อดอก ใบรูปไข่กว้างหรือจัก 3 พู ตื้น ๆ ยาว 11–12 ซม. แผ่นใบมีขนและต่อม เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 3.5–5.2 ซม. ช่อดอกมักแยกแขนง ยาวได้ถึง 6 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. ก้านดอกยาว 6–7 มม. ดอกสีครีมเขียวอมน้ำตาล กลีบปากด้านในสีน้ำตาลแดงหรือดำ หลอดกลีบดอกเรียวแคบ ยาว 0.8–1.6 ซม. ปลายกลีบบานออก รูปขอบขนานหรือรูปใบพาย ยาว 1.3–1.8 ซม. กระเปาะรูปไข่กว้างเกือบกลม ยาว 4–8 มม. เส้าเกสรยาวประมาณ 2 มม. ผลรูปไข่กว้าง ยาว 4–4.5 ซม. ก้านผลยาว 3–6 ซม. เมล็ดรูปสามเหลี่ยม ยาว 7–8 มม. รวมปีก มีตุ่มด้านเดียว

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง หรือเขาหินปูน ความสูง 100–400 เมตร

กระเช้าถุงทอง: ใบรูปไข่กว้าง หรือจักเป็นพูตื้น ๆ เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ดอกหนาแน่นหรือประปราย ผลแห้งแตกคล้ายกระเช้า (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กระเช้านางพันธุรัต
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia phuphathanaphongiana Do

Aristolochiaceae

ไม้เถาเกาะเลื้อย ใบรูปไข่หรือแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–7 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนรูปหัวใจลึก แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น ก้านใบยาว 2–4 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 4–5 ซม. ก้านช่อสั้น มี 2–8 ดอก ใบประดับรูปไข่กว้างหรือรูปหัวใจ ไร้ก้าน หุ้มแกนช่อ ยาว 0.8–1.5 ซม. ก้านดอกยาว 5–6 มม. ดอกสีม่วงหรืออมน้ำตาลดำ ยาว 2.2–2.8 ซม. หลอดกลีบดอกยาว 6–8 มม. ปลายกลีบรูปใบหอก ยาว 1.2–1.5 ซม. ด้านในมีขนยาวหนาแน่น ปากหลอดมีจุดสีขาว กระเปาะรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3–4 มม. เส้าเกสรยาว 3–4 มม. ผลรูปไข่กว้างเกือบกลม ยาว 1.3–1.4 ซม. เมล็ดรูปหัวใจ ยาว 3–4 มม. ไม่มีปีก

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่เขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี ขึ้นเกาะบนหินปูน ความสูง 10–50 เมตร คำระบุชนิดตั้งตามชื่อนางลีนา ผู้พัฒนพงศ์ นักพฤกษศาสตร์ของหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ศึกษาพืชวงศ์กระเช้าสีดา (Aristolochiaceae) ของไทย

กระเช้านางพันธุรัต: ใบรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ใบประดับคล้ายรูปหัวใจ ไร้ก้าน ติดทน กลีบดอกด้านในมีขนหนาแน่น ผลรูปไข่กว้างเกือบกลม มี 6 สัน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กระเช้าปากเป็ด
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia cambodiana Pierre ex Lecomte

Aristolochiaceae

ไม้เถา ใบรูปไข่แกมสามเหลี่ยมหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–10 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นโคนใบข้างละ 2 เส้น ก้านใบยาว 2–4 ซม. ช่อดอกออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ มี 2–8 ดอก ใบประดับรูปขอบขนาน ยาว 0.5–1.2 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. ขยายในผล ดอกสีม่วงอมแดง หลอดกลีบดอกยาว 3–7.5 มม. ด้านในสีครีม ปลายกลีบรูปคล้ายเงี่ยงลูกศร ยาว 0.7–1.5 ซม. ปากหลอดกลีบมีขน กระเปาะรูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 3–4.5 มม. เส้าเกสรยาว 1–1.8 มม. ผลรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 1.5–2.5 ซม. เมล็ดรูปไข่กลับ ไม่มีปีก ยาว 4–4.5 มม.

พบที่กัมพูชา และเวียดนาม ในไทยพบแทบทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ เขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1300 เมตร ใบและสิ่งปกคลุมมีความผันแปรสูง

ชื่อพ้อง   Aristolochia kerrii Craib, A. dongnaiensis Pierre

ชื่ออื่น   กระเช้าปากเป็ด (ภาคเหนือ); เครือไก่น้อย (เชียงใหม่)

กระเช้าปากเป็ด: ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ กลีบรวมสีม่วงอมแดง ปลายกลีบคล้ายเงี่ยงลูกศร (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

กระเช้าผีมด
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia acuminata Lam.

Aristolochiaceae

ไม้เถา มีขนสั้นนุ่มตามลำต้น เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก และปากหลอดกลีบดอก ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 9.5–16.5 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3–4 เส้น ก้านใบยาว 3–6 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาว 3–13 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 1.5–3 มม. ก้านดอกยาว 5–8 มม. ดอกสีครีม ปากกลีบสีแดงอมน้ำตาล หลอดกลีบดอกยาว 0.6–1.2 ซม. ปลายกลีบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 1.2–2.5 ซม. กระเปาะกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 มม. ผลรูปรี ยาว 3–5.5 ซม. เมล็ดรูปไข่กลับ ยาว 5–7.5 มม. รวมปีก มีตุ่มด้านเดียว

พบที่อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ออสเตรเลีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Aristolochia tagala Cham.

ชื่อสามัญ  Indian birthwort

ชื่ออื่น   กระเช้าผีมด, กระเช้ามด, กระเช้าสีดา (ภาคกลาง); ปุลิง (เชียงใหม่); หาบกะเชอ (ขอนแก่น)

กระเช้าผีมด: ใบรูปขอบขนาน เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น แผ่นใบเกลี้ยง ดอกสีครีมอมน้ำตาล ปากกลีบสีแดงอมน้ำตาลเรียวยาว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กระเช้ามด
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia acuminata Lam.

Aristolochiaceae

ดูที่ กระเช้าผีมด

กระเช้ายะลา
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia yalaensis Phuph.

Aristolochiaceae

ไม้เถาล้มลุก มีขนสั้นนุ่มตามลำต้น และแผ่นใบด้านล่าง ใบรูปไข่ ยาว 7–12 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 2–3 เส้น ก้านใบยาว 4–6 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 4.5 ซม. ก้านช่อสั้น มี 3–5 ดอก ใบประดับรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 3.5–5 มม. โคนโอบรอบก้านดอก ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. ดอกสีครีมอมเขียว มีขนละเอียด ปากหลอดกลีบสีม่วงอมแดง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 4 มม. งอขึ้น กลีบรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลีบมน เว้าตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มด้านใน กระเปาะรูปรีกว้าง ยาวประมาณ 3 มม. เส้าเกสรยาวประมาณ 0.8 มม. ผลอ่อนรูปขอบขนาน

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่บันนังสตา จังหวัดยะลา ขึ้นเกาะเลื้อยบนเขาหินปูนเตี้ย ๆ ในป่าดิบชื้น ความสูงประมาณ 200 เมตร อนึ่ง ตัวอย่างพรรณไม้จากจังหวัดยะลา (Middleton et al. 3539 - BKF) คล้ายกระเช้ายะลา แต่ช่อดอกสั้น และดอกสีม่วงอมแดง อาจจะเป็นชนิดเดียวกัน หรือเป็นชนิด A. minutiflora Ridl. ex Gamble ที่พบในมาเลเซีย

กระเช้ายะลา: ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบรวมสีครีมอมเขียว (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กระเช้าหนู
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Aristolochia helix Phuph.

Aristolochiaceae

ไม้เถาทอดเลื้อย ลำต้นเรียงซิกแซก มีขนยาวตามลำต้น แผ่นใบด้านล่าง และก้านดอก ใบรูปไข่กว้าง ยาว 0.8–1.5 ซม. โคนรูปหัวใจ แผ่นใบด้านบนสาก เส้นโคนใบข้างละ 1–2 เส้น ก้านใบ 2–5 มม. ช่อดอกมีดอกเดียว ไม่มีใบประดับ ก้านดอกยาว 4–5 มม. ดอกสีครีมอมน้ำตาล มีขนละเอียดด้านใน ปากหลอดกลีบสีม่วงอมแดง หลอดกลีบดอกยาว 5–9 มม. ปลายกลีบรูปขอบขนาน ยาว 7–8 มม. ปลายมน กระเปาะรูปเกือบกลม ยาว 2–2.5 มม. เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 มม. ผลรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 มม. เมล็ดคล้ายรูปหัวใจ ยาวประมาณ 3 มม. เรียบหรือมีตุ่มประปรายด้านเดียว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่พังงา กระบี่ ขึ้นบนเขาหินปูน ความสูงระดับต่ำ ๆ

กระเช้าหนู: กิ่งเรียงซิกแซก ลำต้นและใบมีขนยาว ช่อดอกมีดอกเดียว ไม่มีใบประดับ (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Do, T., C. Neinhuis and S. Wanke. (2014). New synonym of Aristolochia cambodiana Pierre ex Lecomte. Thai Forest Bulletin (Botany) 42: 96–99.

Do, T., C. Neinhuis, S. Wanke and R. Pooma. (2015). Aristolochia phuphathanaphongiana: a new species from southwestern Thailand. Nordic Journal of Botany 33: 567–571. doi 10.1111/njb.00889

Phuphathanaphong, L. (1987). Aristolochiaceae. In Flora of Thailand Vol. 5(1): 1–31.

Phuphathanaphong, L. (2006). New taxa of Aristolochia (Aristolochiaceae) from Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 34: 179–194.