สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระเจียว

กระเจียว  สกุล
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma L.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุกมีเหง้า รากอวบหนา ใบเรียงเวียน ใบที่โคนลดรูปเป็นกาบ ลิ้นกาบขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อเชิงลดออกที่ยอดหรือเหง้า บางครั้งออกก่อนผลิใบ ใบประดับเชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่งคล้ายถุง ช่อดอกย่อยแบบวงแถวเดียว มี 2–7 ดอก ใบประดับช่วงปลายมักมีสีสด ส่วนมากไม่มีช่อดอก ดอกมักบานครั้งละดอกเดียว ใบประดับย่อยแยกจรดโคน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ แฉกลึกด้านเดียว ปลายจัก 2–3 แฉก ดอกรูปแตร กลีบดอก 3 กลีบ ยาวเท่า ๆ กัน หรือกลีบบนขนาดใหญ่กว่า แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันด้านข้างเชื่อมติดก้านชูอับเรณูและกลีบปากที่โคน กลีบปากกลีบกลางหนา กลีบข้างบางเรียงซ้อนแผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดไหวได้ โคนมักมีเดือย แกนอับเรณูไม่มีรยางค์ รังไข่มี 3 ช่อง ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก

สกุล Curcuma มีประมาณ 120 ชนิด ปัจจุบันได้รวมเอาสกุลว่านเข้าพรรษา Smithatris และสกุลว่านเพชรไพรวัลย์ Stahlianthus ไว้ด้วย ในไทยมีกว่า 40 ชนิด ส่วน C. longa L. หรือขมิ้น เป็นพืชสวนครัว มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ชื่อสกุลมาจากภาษาอาหรับ “kurkum” หมายถึงสีเหลืองของหัวขมิ้น


กระเจียวขาว
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma parviflora Wall.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูง 30–50 ซม. เหง้าสั้น มี 3–5 ใบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวได้ถึง 40 ซม. เกลี้ยง ก้านใบยาวได้ถึง 10 ซม. ช่อดอกออกที่ยอด ก้านช่อยาวได้ถึง 30 ซม. ช่อดอกยาว 4–8 ซม. ใบประดับสีเขียวช่วงปลายสีขาว รูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 3 ซม. ดอกสีขาว หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบดอกรูปไข่ ยาวประมาณ 7 มม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน สั้นกว่ากลีบปาก กลีบปากรูปขอบขนาน ปลายมีปื้นสีม่วงอมน้ำเงิน ขอบจักชายครุย ปลายแฉกลึก 2 แฉก อับเรณูไม่มีเดือย รังไข่เกลี้ยง

พบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทุกภาคขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ดอกอ่อนเป็นผักสดหรือปรุงสุก

ชื่ออื่น   กระเจียวขาว (นครราชสีมา); กระเจียวโคก, กระชายดง (เลย); อาวขาว (เชียงใหม่)

กระเจียวขาว: ใบประดับช่วงปลายสีขาว กลีบปากสีม่วง ปลายแยก 2 แฉก ขอบจักชายครุย (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กระเจียวเหลืองแดง
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma bicolor Mood & Larsen

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. เหง้าขนาดเล็ก มีขนยาวตามก้านใบ ก้านช่อดอก และดอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 20–35 ซม. โคนเว้าตื้นคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบยาว 10–23 ซม. ช่อดอกออกที่โคน ก้านช่อสั้น ช่อดอกยาว 7–11 ซม. ใบประดับสีเดียวกัน สีส้มเขียวอมขาว รูปไข่ ยาว 3–4 ซม. แต่ละใบประดับมีได้ถึง 4 ดอก ดอกสีเหลืองแดง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 4 ซม. กลีบบนและกลีบข้างรูปใบหอก ยาว 1.8–2 ซม. กลีบปากรูปไวโอลิน กว้างและยาวได้ถึง 2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรี ยาวประมาณ 1.7 ซม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 8 มม. อับเรณูมีเดือย รูปนิ้วมือสั้น ๆ

พืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือที่ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นริมลำธารในป่าเบญจพรรณ ความสูงประมาณ 750 เมตร

กระเจียวเหลืองแดง: โคนใบเว้าตื้น ช่อดอกออกที่โคน ใบประดับสีเดียวกัน ดอกสีเหลืองแดง กลีบปากรูปไวโอลิน อับเรณูมีเดือยรูปนิ้วมือสั้น ๆ (ภาพ: John Mood)

กระเจียวโคก
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma singularis Gagnep.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. เหง้าแยกแขนง ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 20–35 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียด มักมีปื้นสีม่วงใกล้เส้นกลางใบ ช่อดอกออกจากเหง้าก่อนผลิใบ ก้านช่อยาว 10–15 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกสั้นกว่าก้านช่อ ใบประดับสีเขียวอมม่วงหรือน้ำตาล รูปขอบขนาน ยาว 3–4 ซม. ช่วงโคนกว้าง ดอกสีขาว กลีบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 ซม. กลีบหลังปลายมีติ่งแหลม กลีบปากรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายแฉกลึก แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.8 ซม. รังไข่มีขนยาว

พบที่ภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

กระเจียวโคก: ใบประดับรูปขอบขนาน โคนกว้าง กลีบปากแฉกลึก มีสันนูนสีเหลือง (ภาพ: John Mood)

กระเจียวโคก
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma parviflora Wall.

Zingiberaceae

ดูที่ กระเจียวขาว

กระเจียวบัว
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma alismatifolia Gagnep.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุกสูงได้ถึง 60 ซม. เหง้ายาว 3–4 ซม. โคนกาบสีแดง ใบรูปใบหอก ยาว 20–30 ซม. โคนสอบเรียว เส้นกลางมีปื้นสีม่วงอมแดง ก้านใบยาว 3–10 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายยอด ก้านช่อยาวได้ถึง 50 ซม. ช่อดอกยาว 15–20 ซม. ใบประดับช่วงล่างสีเขียวหรืออมชมพู รูปรี ยาว 2.5–3 ซม. ใบประดับช่วงปลายช่อสีชมพูอมม่วง รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 6–10 ซม. ดอกสีขาวอมชมพู กลีบบนขนาดใหญ่กว่ากลีบข้างเล็กน้อย ยาวเท่า ๆ กลีบปาก กลีบปากสีม่วง รูปรี ยาวประมาณ 2.5 ซม. ปลายจัก 2 พู มีสันนูนตามยาว 2 สัน สีเหลือง แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปขอบขนาน ยาวเท่า ๆ กลีบดอก ปลายก้านชูอับเรณูเว้าเข้า

พบที่ลาว กัมพูชา ในไทยพบทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นเป็นกลุ่มหนาแน่นในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ดอกอ่อนเป็นผักสดหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก เป็นไม้ตัดดอก

ชื่อสามัญ  Siam tulip

ชื่ออื่น   กระเจียวบัว (ภาคกลาง); ขมิ้นโคก (เลย); ปทุมมา (ทั่วไป)

กระเจียวบัว: ใบประดับช่วงปลายช่อสีม่วงขนาดใหญ่ กลีบปากสีม่วง ปลายจัก 2 พู ตื้น ๆ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

กระเจียวส้ม
วันที่ 1 มีนาคม 2559

Curcuma roscoeana Wall.

Zingiberaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 90 ซม. เหง้ายาว 3–4 ซม. ใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 16–35 ซม. โคนสอบเรียว กลม หรือเว้าตื้น ก้านใบยาว 7–25 ซม. ส่วนมากสีม่วงแดง ช่อดอกออกที่ปลายยอด ก้านช่อยาวได้ถึง 30 ซม. ช่อดอกสั้น หรือยาว 8–15 ซม. ใบประดับสีเดียวกัน สีส้มอมน้ำตาล รูปไข่กลับ ยาว 3.5–4.5 ซม. แต่ละใบประดับมี 2–4 ดอก ดอกสีครีม หลอดกลีบดอกยาว 3–3.5 ซม. กลีบบนและกลีบข้างยาวประมาณ 1 ซม. กลีบปากมีปื้นสีเหลือง รูปรีกว้าง ยาวประมาณ 1.5 ซม. กว้างได้ถึง 2 ซม. แผ่นเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปคล้ายสี่เหลี่ยม ยาว 1.2–1.5 ซม. อับเรณูไม่มีเดือย สันอับเรณูกลม ขนาดเล็กสีเหลืองใส

พบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร เป็นไม้ประดับ

ชื่อสามัญ  Jewel of Burma

ชื่ออื่น    กระเจียวส้ม (ทั่วไป); ขมิ้นแดง (แม่ฮ่องสอน); บัวสวรรค์ (ภาคกลาง)

กระเจียวส้ม: ก้านใบยาว ช่อดอกมีทั้งช่อสั้นและช่อยาว โคนกลีบปากมีปื้นสีเหลือง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Mood, J. and K. Larsen. (2001). New Curcumas from South-east Asia. New Plantsman 8(4): 210–211.

Škorničková, J. and M. Sabu. (2005). (2005). Curcuma roscoeana Wall. (Zingiberaceae) in India. Gardens’ Bulletin Singapore 57 (Suppl.): 187–198.

Škorničková, J. O. Šída, E. Záveská and K. Marhold. (2015). History of infrageneric classification, typification of supraspecific names and outstanding transfers in Curcuma (Zingiberaceae). Taxon 64(2): 362–373. http://dx.doi.org/10.12705/642.11