สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระบาก

กระบาก
วันที่ 28 กันยายน 2559

Anisoptera scaphula (Roxb.) Kurz

Dipterocarpaceae

ดูที่ ช้าม่วง

กระบาก  สกุล
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera Korth.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้นขนาดใหญ่ โคนต้นมีพูพอน เปลือกในเรียงเป็นชั้น ชันใส หูใบรูปใบหอก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน เส้นแขนงใบมักเรียงจรดกันเป็นเส้นขอบใน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบคู่นอกยาวและแคบกว่า 3 กลีบในเล็กน้อย เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน ดอกสีครีมหรือสีขาว มี 5 กลีบ ร่วงแยกกัน เกสรเพศผู้ส่วนมากมี 15–40 อัน เรียง 3 วง ก้านชูอับเรณูสั้น รูปเส้นด้าย อับเรณูคู่ในสั้นกว่าคู่นอก แกนอับเรณูมีรยางค์เป็นติ่งสั้น ๆ หรือรูปเส้นด้าย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ฐานก้านยอดเกสรเพศเมีย (stylopobium) รูปทรงกระบอกหรือคล้ายจาน ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก หรือยอดเกสรจัก 3 พู ผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ปลายมีติ่ง หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มเกือบทั้งผล กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว 2 ปีก มีเส้นปีก 3 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก โคนเรียงจรดกัน

สกุล Anisoptera อยู่ภายใต้เผ่า Dipterocarpeae ที่โคนกลีบเลี้ยงในผลเรียงจรดกัน แยกเป็น sect. Anisoptera (กระบาก และกระบากทอง) และ sect. Glabrae (กระบากแดง และช้าม่วง) ตามความยาวของรยางค์ที่แกนอับเรณู ก้านและฐานก้านเกสรเพศเมีย มีประมาณ 10 ชนิด พบที่บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยมี 4 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “anisos” ไม่เท่ากัน และ “pteros” ปีก ตามลักษณะของปีกที่ไม่เท่ากัน


กระบาก
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 50 ม. กิ่งอ่อนมีเกล็ดรังแคหนาแน่น หูใบยาวได้ถึง 1 ซม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–18 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนรูปดาวสีเขียวเทาหนาแน่นหรือประปราย เส้นแขนงใบข้างละ 12–25 เส้น ก้านใบส่วนมากยาว 1–2.5 ซม. ช่อดอกยาวได้ถึง 20 ซม. แต่ละช่อย่อยมีประมาณ 5 ดอก กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3 มม. ด้านนอกมีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาว 0.7–1 ซม. เกสรเพศผู้มี 25–40 อัน อับเรณูยาวประมาณ 1 มม. รยางค์ยาว 2–4 เท่าของอับเรณู ฐานก้านเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3 มม. มีขนรูปดาวสั้น ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก หลอดกลีบเลี้ยงมีขน ปีกยาว ยาว 10–15 ซม. ปีกสั้น ยาว 1–2.5 ซม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีขนสั้นนุ่ม

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา ชวา และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ขึ้นหนาแน่นบางพื้นที่ ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร มีความผันแปรสูงโดยเฉพาะสิ่งปกคลุม

ชื่ออื่น   กระบาก (ทั่วไป); กระบากขาว (ชลบุรี, ชุมพร, ระนอง); กระบากโคก (ตรัง); กระบากช่อ, กระบากด้าง, กระบากดำ (ชุมพร); กระบากแดง (ชุมพร, ระนอง); ชอวาตาผ่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตะบาก (ลำปาง); บาก (ชุมพร); ประดิก (เขมร-สุรินทร์); พนอง (จันทบุรี, ตราด); หมีดังว่า (กะเหรียง-ลำปาง)

กระบาก: ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน แกนอับเรณูมีรยางค์ยาว ฐานก้านเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์, นันทวรรณ สุปันตี)

กระบากแดง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera laevis Ridl.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. กิ่งเกลี้ยง หูใบยาว 5–7 มม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่ ยาว 5.5–10 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ 10–14 เส้น เรียงจรดกันไม่ชัดเจนใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว 1.5–2 ซม. ช่อดอกยาว 7–13 ซม. กลีบเลี้ยงยาว 1–2 มม. ด้านนอกมีขน กลีบดอกรูปรี ยาว 4–5 มม. เกสรเพศผู้มี 15 อัน รยางค์เป็นติ่งแหลม ฐานก้านเกสรเพศเมียรูปจาน มีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียยาว 2–2.5 มม. ยอดเกสรจัก 3 พู หลอดกลีบมีขนประปราย ปีกยาว ยาว 11–13 ซม. ปีกสั้น ยาว 1–1.5 ซม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.3 ซม. มีขนหรือเกลี้ยง

พบที่คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว สุมาตรา และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่นราธิวาส ขึ้นกระจายห่าง ๆ ในป่าดิบชื้น ความสูง 150–900 เมตร คล้ายกับช้าม่วง แต่จำนวนเส้นแขนงใบมีน้อยและเส้นใบไม่ชัดเจนเท่าช้าม่วง

กระบากแดง: โคนต้นมีพูพอน แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดสีน้ำตาลแดง เส้นแขนงใบข้างละ 10–14 เส้น หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มผลจนมิด ปีกยาว 2 ปีก เส้นปีก 3 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

กระบากแดง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากโคก
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากขาว
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากช่อ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากด้าง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากดำ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera costata Korth.

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบาก

กระบากดำ
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Hopea helferi (Dyer) Brandis

Dipterocarpaceae

ดูที่ กระบกกรัง

กระบากทอง
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Anisoptera curtisii Dyer ex King

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น สูงได้กว่า 40 ม. มีเกล็ดรังแค ต่อม และขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลือง ตามกิ่งอ่อน ตาใบ หูใบ แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก และกลีบเลี้ยง หูใบยาว 3–7 มม. ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 5–15 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 12–25 เส้น ก้านใบยาว 1–2.5 ซม. ช่อดอกยาว 5–10 ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบดอกรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 7 มม. เกสรเพศผู้มี 25 อัน รยางค์ยาวประมาณ 3 เท่าของอับเรณู ฐานก้านเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 1 มม. มีขนรูปดาวสั้น ๆ ก้านเกสรเพศเมียแยก 3 แฉก ปีกยาว ยาว 7–12 ซม. ปีกสั้น ยาว 1.3–3 ซม. ก้านผลยาว 3–5 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.3 ซม. ผิวเกลี้ยงหรือแตกระแหง เป็นสะเก็ดเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่ม

พบที่พม่าตอนล่าง คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ ยะลา นราธิวาส และสตูล ขึ้นหนาแน่นในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 850 เมตร บางครั้งมีรายงานลูกผสมระหว่างกระบากและกระบากทองที่คาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตาม ทางภาคใต้ตอนล่างพบเฉพาะกระบากทอง

กระบากทอง: โคนต้นมีพูพอน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงจรดกันเป็นเส้นขอบใน แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดรังแคสีน้ำตาลอมเหลือง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)



เอกสารอ้างอิง

Ashton, P.S. Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 112-116. (1982). Dipterocarpaceae. In Flora Malesiana Vol. 9: 327–337.

Pooma, R. and M. Newman. (2001). Checklist of Dipterocarpaceae in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 29: 112–116.

Smitinand, T., J.E. Vidal and P.H. Hô. (1990). Dipterocarpaceae. Flore du Cambodge, du Laos et du Vietnam 25: 11–16.