สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กระถินณรงค์

กระถินณรงค์  สกุล
วันที่ 9 มีนาคม 2559

Acacia Mill.

Fabaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ต้นกล้าเป็นใบประกอบ 2 ชั้น ต้นโตก้านใบกลายเป็นใบ (phyllodinous foliage) เรียงเวียน พบน้อยที่เป็นใบประกอบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อเชิงลด กลีบเลี้ยงและกลีบดอกกลีบเชื่อมติดกัน ปลายส่วนมากแยก 5 แฉก เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกัน รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรขนาดเล็ก ออวุลจำนวนมาก ผลเป็นฝัก ผิวเมล็ดมีรอยรูปตัวยู (pleurogram)

สกุล Acacia อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Mimosoideae เดิมมีมากกว่า 1450 ชนิด ปัจจุบันถูกจำแนกออกเป็นอย่างน้อย 5 สกุล เป็นสกุลที่พบในไทย 2 สกุล คือ Senegalia และ Vachellia ส่วนสกุล Acacia พบเฉพาะที่เป็นพืชต่างถิ่นประมาณ 3 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “akakia” หนาม หมายถึงต้นไม้มีหนาม


กระถินณรงค์
วันที่ 9 มีนาคม 2559

Acacia auriculiformis A.Cunn. ex Benth.

Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. แผ่นก้านใบรูปขอบขนาน โค้ง ปลายเรียวแหลมทั้ง 2 ด้าน ยาว 8–20 ซม. เส้นใบเรียงขนานกันตามยาว 3–4 เส้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว 4–10 ซม. ช่อดอกย่อยแบบช่อกระจุก ดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาว 0.5–1 มม. ขอบจัก กลีบดอกโค้งลง ยาว 1.5–2 มม. เกสรเพศผู้สีเหลือง ก้านชูอับเรณูยาว 2.5–4 มม. รังไข่มีขนละเอียด ฝักแบน กว้าง 1–1.5 ซม. ยาว 6–7 ซม. บิดม้วนเป็นวง ฝักอ่อนมีนวล มี 5–12 เมล็ด รูปไข่หรือรูปรี ยาว 4–6 มม.

มีถิ่นกำเนิดในปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย นำเข้ามาปลูกเป็นสวนป่าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำกระดาษ บำรุงดิน และฟื้นฟูสภาพป่า เช่นเดียวกับกระถินเทพา Acacia mangium Willd. ซึ่งมีเกสรเพศผู้สีเหลืองครีม เส้นใบมี 4–5 เส้น

ชื่อสามัญ  Earleaf Acacia, Wattle

กระถินณรงค์: แผ่นคล้ายใบ (phyllodes) เส้นใบเรียงขนานกัน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด สีเหลือง (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Contu, S. (2012). Acacia auriculiformis. The IUCN Red List of Threatened Species 2012: e.T19891902A19997222. http://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2012.RLTS.T19891902A19997222.en

Maslin, B.R. (2015). Synoptic overview of Acacia sensu lato (Leguminosae: Mimosoideae) in East and Southeast Asia. Gardens’ Bulletin Singapore 67(1): 231–250.