สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ไคร้หางนาค
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rotula aquatica Lour.

Boraginaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. กิ่งมีริ้ว ใบเรียงเวียนชิดกันที่ปลายกิ่ง เรียงห่าง ๆ ช่วงโคนกิ่ง รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ ยาว 0.5–3 ซม. ปลายมน ปลายมีติ่งแหลม แผ่นใบหนา ขอบเรียบหรือจักซี่ฟัน มีขนแข็งเอนประปราย ก้านใบยาว 0.5–4 มม. ช่อแบบช่อกระจุกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก กลีบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 4–5 มม. ปลายแหลมยาว ติดทน ด้านนอกมีขน ดอกสีชมพู หลอดกลีบดอกสั้น มี 5 กลีบ รูปรีกว้าง ยาว 6–7 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดภายในหลอดกลีบดอก อับเรณูหันเข้า ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ยอดเกสรเพศเมียจัก 2 พู รูปคล้ายโล่ ผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–5 มม. สุกสีแดงเป็นมันวาว มี 4 ไพรีน

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามโขดหินริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูง 50–300 เมตร มีสรรพคุณใช้รักษานิ่ว แก้ไอ โรคหัวใจ และโรคทางประสาท

สกุล Rotula Lour. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Ehretiaceae มี 3 ชนิด พบในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียเขตร้อน ในไทยมีเพียงชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินหมายถึงกงล้อขนาดเล็กตามลักษณะดอก

ชื่ออื่น   ไคร้หางนาค (ชุมพร, ภาคกลาง); ตะลีที้เด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มะน้อดน้ำ (เชียงใหม่); หางนาค (ภาคเหนือ, ภาคกลาง)

ไคร้หางนาค: ใบเรียงเวียนชิดกันที่ปลายกิ่ง ช่อแบบช่อกระจุกสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ผลสุกสีแดงเป็นมันวาว กลีบเลี้ยงติดทน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

van Welzen, P.C. (2007). Euphorbiaceae. In Flora of Thailand Vol. 8(2): 537.

Zhu, G., H. Riedl and R.V. Kamelin. (1995). Boraginaceae. In Flora of China Vol. 16: 337.

ตะลีที้เด๊าะ
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rotula aquatica Lour.

Boraginaceae

ดูที่ ไคร้หางนาค

มะน้อดน้ำ
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rotula aquatica Lour.

Boraginaceae

ดูที่ ไคร้หางนาค

หางนาค
วันที่ 26 สิงหาคม 2559

Rotula aquatica Lour.

Boraginaceae

ดูที่ ไคร้หางนาค