สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



ส้มเสี้ยวเถา
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Phanera lakhonensis (Gagnep.) A.Schmitz

Fabaceae

ไม้เถา มีขนสีน้ำตาลแดงตามกิ่งอ่อน เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ ตาดอก และฐานดอก หูใบรูปเคียวขนาดเล็ก ใบรูปรีกว้าง ยาว 4–5 ซม. ปลายแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง ปลายแฉกกลม โคนเว้าลึก เส้นใบ 9 เส้น ก้านใบยาว 1.5–2 ซม. ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ยาวได้ถึง 5 ซม. ใบประดับยาวประมาณ 6 มม. ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. ใบประดับย่อยติดประมาณกึ่งกลางก้านดอก ตาดอกรูปไข่ ยาวประมาณ 4 มม. ฐานดอกเรียวแคบ ยาว 2–3 ซม. กลีบเลี้ยงแยก 5 ส่วน พับงอกลับ ดอกสีขาว กลีบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูสีแดง ยาวประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 7 อัน 2 อันติดระหว่างเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 5 อันเชื่อมติดกันที่โคน รังไข่เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียรูปจาน ฝักรูปใบหอก ยาว 10–12 ซม. มี 8–16 เมล็ด รูปรี แบน ยาวประมาณ 9 มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ แสลงพัน, สกุล)

พบที่ลาว เวียดนามตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทยที่นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ขึ้นตามที่โล่ง ชายป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 200 เมตร

ชื่อพ้อง  Bauhinia lakhonensis Gagnep.

ส้มเสี้ยวเถา: ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ฐานดอกเรียวแคบ กลีบเลี้ยงพับงอกลับ เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูสีแดง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 7 อัน 2 อันติดระหว่างเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 5 อันเชื่อมติดกันที่โคน (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae. (Bauhinia lakhonensis). In Flora of Thailand Vol. 4(1): 40.