สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หยาดนภา
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Onosma burmanica Collett & Hemsl.

Boraginaceae

ไม้ล้มลุก อาจสูงได้มากกว่า 1 ม. มีขนยาวหนาแน่นตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ใบที่โคนต้นจำนวนมาก แห้งติดทน ใบรูปใบหอก ยาว 6–11 ซม. แผ่นใบด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนแบบใยไหม ใบบนลำต้น ยาว 3–7 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ยาว 10–30 ซม. ช่อกระจุกย่อยแบบช่อปลายม้วน ยาว 3–5 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงแยกจรดโคน รูปแถบ ยาว 0.8–1 ซม. ดอกรูปกรวยคว่ำ สีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 5–7 มม. ยาว 1–1.3 ซม. ด้านในมีขนอุยเรียงเป็นรูปแถบสั้น ๆ ใกล้โคนกลีบ ต่อมน้ำต้อยจักเป็นพูขนาดเล็ก มีขนอุย เกสรเพศผู้ 5 อัน ยื่นเลยหลอดกลีบ มีขน อับเรณูเรียงติดกันเป็นหลอด ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลย่อยแเบบเปลือกแข็งเมล็ดล่อนมี 4 ผล รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 3–3.5 ซม. สีน้ำตาล มีตุ่มกระจาย

พบที่พม่า และภาคเหนือตอนล่างของไทยที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 900–1000 เมตร

สกุล Onosma L. มีประมาณ 145 ชนิด พบในแถบประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย ทิเบต จีน และพม่า ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลเป็นภาษากรีกที่ใช้เรียกชนิด O. echioides L. หรือ stone bugloss

หยาดนภา: ถิ่นที่อยู่ตามที่โล่งบนเขาหินปูน ใบที่โคนต้นแห้งติดทน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ช่อกระจุกย่อยแบบช่อปลายม้วน ดอกรูปกรวยคว่ำ อับเรณูเรียงติดกันเป็นหลอด (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)

เอกสารอ้างอิง

Zhu, G., H. Riedl and R.V. Kamelin. (1995). Boraginaceae. In Flora of China Vol. 16: 348.