สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หัวร้อยรูหนาม
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Myrmecodia tuberosa Jack

Rubiaceae

ไม้พุ่มอิงอาศัย คอรากพองเป็นหัวเป็นที่อาศัยของมด รูปร่างไม่แน่นอน อาจยาวได้ถึง 45 ซม. ผิวเป็นสัน มีหนาม มีรูทางเข้ามดกระจายตามหัวที่เป็นส่วนโค้งมีหนาม กิ่งออกเดี่ยว ๆ อวบหนา ยาวได้ถึง 30 ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ยาวประมาณ 1 ซม. ร่วงพร้อมใบ ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขนาน ยาว 10–18 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม ก้านใบยาว 2.5–5 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามสันนูนที่เป็นหนาม ไร้ก้าน หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 มม. ขอบเรียบ ติดทน ดอกรูปดอกเข็ม สีขาว หลอดกลีบดอกยาว 5–8 มม. โคนมีขนเป็นวง มี 4 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 3–4 มม. เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดช่วงบนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก รังไข่ใต้วงกลีบ มี 4–6 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียมีแบบสั้นและแบบยาว ยอดเกสรจัก 4–6 พู ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลผนังชั้นในแข็ง รูปไข่ ยาวประมาณ 7 มม. สุกสีส้ม มี 4–6 ไพรีน,br>
พบที่เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทางภาคใต้ตอนล่างที่ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร มีความผันแปรสูง มีชื่อเรียกต่อท้ายจากชื่อชนิดจำนวนมาก (variant) ที่พบในไทยเป็น M. tuberosa ‘Armata’

สกุล Myrmecodia Jack เป็นสกุลพืชที่เป็นที่อาศัยของมด อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rubioideae เผ่า Psychotrieae หัวเกิดจากต้นอ่อนใต้ใบเลี้ยงเจริญ (hypocotyls tuber) ส่วนมากมีหนามเกิดจากรากที่เปลี่ยนรูป มีประมาณ 26 ชนิด พบมากในภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “myrmekos” มด หมายถึงพืชมีมด

ชื่อสามัญ  Ant plant

หัวร้อยรูหนาม: พืชอิงอาศัย ผิวเป็นสัน มีหนาม กิ่งออกเดี่ยว ๆ อวบหนา หูใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ร่วงพร้อมใบ ดอกรูปดอกเข็ม ออกตามสันนูนที่เป็นหนาม ไร้ก้าน ผลรูปไข่ สุกสีส้ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, วรดลต์ แจ่มจำรูญ)

เอกสารอ้างอิง

Huxley, C.R. and M.H.P. Jebb. (1993). The tuberous epiphytes of the Rubiaceae 5: a revision of Myrmecodia. Blumea 37: 271–334.

Puff, C., K. Chayamarit and V. Chamchumroon. (2005). Rubiaceae of Thailand. The Forest Herbarium, Bangkok.