สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หมามุ่ย  สกุล
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

Mucuna Adans.

Fabaceae

ไม้เถาล้มลุกหรือไม้เถาเนื้อแข็ง หูใบและหูใบย่อยร่วงเร็ว ใบประกอบมี 3 ใบย่อย เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ใบย่อยโดยเฉพาะใบคู่ข้างมักเบี้ยว ช่อดอกส่วนมากแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือกิ่ง มีใบประดับและใบประดับย่อย กลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ กลีบคู่บนเชื่อมติดกันหรือแฉกตื้น ๆ กลีบล่างรูปสามเหลี่ยมไม่เท่ากัน ดอกรูปดอกถั่ว กลีบกลางขนาดเล็ก โคนมีติ่ง มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ล่างและกลีบปีกเรียวแคบ โคนมีติ่งและก้านกลีบสั้น ๆ กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันบางส่วนด้านล่าง ปลายงุ้ม เกสรเพศผู้ 10 อัน 9 อันเชื่อมติดกัน หนึ่งอันแยกจรดโคน อันยาว 5 อัน เรียงสลับกับอันสั้น อันยาวอับเรณูติดที่ฐาน อันสั้นติดไหวได้หรือติดด้านหลัง รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรขนาดเล็ก ผลผนังหนา ส่วนมากมีริ้วเป็นสันนูน มักมีขนแข็งทำให้ระคายเคือง ขอบผลมักเป็นสันคล้ายปีก เมล็ดมีขั้ว

สกุล Mucuna มีประมาณ 100 ชนิด ในไทยเป็นพืชพื้นเมือง 13 ชนิด และเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือพวงโกเมน M. warburgii K.Schum. & Lauterb. ชื่อสกุลเป็นภาษาบราซิเลียนที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้ หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร เมล็ดมีสาร dopamine (L-Dopa) สูง โดยเฉพาะหมามุ่ย M. pruriens (L.) DC.


เอกสารอ้างอิง

Sa, R. and C.M. Wilmot-Dear. (2010). Fabaceae (Mucuna). In Flora of China Vol. 10: 207, 213, 217.

Wilmot-Dear, C.M. (2008). Mucuna Adans. (Leguminosae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 36: 114–139.

Wilmot-Dear, C.M. (1992). A revision of Mucuna (Leguminosae: Phaseoleae) in Thailand, Indochina and the Malay Peninsula. Kew Bulletin 47(2): 203–245.