สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



เหงือกปลาหมอ
วันที่ 3 มกราคม 2561

Acanthus ilicifolius L.

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 ม. ลำต้นหนา หูใบเป็นหนามแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 6–14 ซม. ปลายแหลมเป็นติ่งหนาม แผ่นใบหนา ขอบเรียบหรือจักเป็นติ่งหนาม ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดหรือซอกใบ ใบประดับรูปไข่ ยาว 7–8 มม. ใบประดับย่อยยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ โคนหนา กลีบคู่นอกยาว 1–1.3 ซม. กลีบคู่ในสั้นกว่าเล็กน้อย ดอกสีม่วงอ่อนหรือขาว รูปปากเปิด ยาว 3–4 ซม. หลอดกลีบหนา สั้น กลีบปากล่างยาวประมาณ 3 ซม. ปลายจัก 3 พู ตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มด้านนอก ด้านในมีแถบขนเป็นคู่ กลีบปากบนฝ่อ เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดบนปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูหนา ยาวประมาณ 1.5 ซม. อับเรณูมีช่องเดียว รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 8 มม. มีขนเครา รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวเลยเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรแยก 2 แฉก ผลแห้งแตก รูปรี เป็นมันวาว ยาว 2.5–3 ซม. มี 4 เมล็ด ติดบนต่อม (retinaculum) รูปคล้ายไต แบน


พบที่อินเดีย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าโกงกาง ใบแก้โรคไขข้ออักเสบ ทั้งต้นใช้รักษาโรคนิ่วในไต ใช้ในตำรับยาสมุนไพรไทยหลายขนาน และมีความเชื่อว่าถ้าเคี้ยวใบแล้วจะป้องกันงูกัดได้ในป่าโกงกาง

ชื่อสามัญ  Holy mangrove

เหงือกปลาหมอ: ขอบใบเรียบหรือจักเป็นติ่งหนาม ช่อดอกแบบช่อเชิงลด มีใบประดับย่อย ดอกรูปปากเปิด ผลเป็นมันวาว (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ, ราชันย์ ภู่มา)

เอกสารอ้างอิง

Barker, R.M. (1986). A taxonomic revision of Australian Acanthaceae. Journal of the Adelaide Botanic Gardens 9: 64–75.

Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Acanthus). In Flora of China Vol. 19: 379.

Ng, P.K.L. and N. Sivasothi (eds). (2001). Guide to the Mangroves of Singapore 1: The ecosystem and plant diversity. Singapore: Singapore Science Centre.