| เพ็ก
| | | วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 |
| Vietnamosasa pusilla (A.Chev. & A.Camus) T.Q.Nguyen |
|
ไผ่ขนาดเล็ก เหง้าแยกแขนง ลำต้นสูง 50–150 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 ซม. แตกกิ่งจำนวนมาก ไม่มีหนาม กาบรูปสามเหลี่ยม ยาว 3–5 ซม. ขอบกาบใบและลิ้นกาบมีขน ใบรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาว 8–14 ซม. แผ่นใบเหนียว ปลายเรียวแหลม โคนคล้ายก้านใบเรียวจรดกาบ เส้นแขนงใบ 6–8 เส้น เรียงขนานกัน มีเส้นตามขวางชัดเจน แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ขอบมีขนสาก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเป็นกระจุกตามต้นที่ไม่มีใบ รูปใบหอก โคนมีกาบ แกนช่อมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกย่อยไม่หนาแน่น ออกเดี่ยว ๆ รูปแถบ แบน ๆ ยาว 3–4 ซม. กาบช่อรูปไข่ ยาว 0.7–1 ซม. ไม่มีสันกาบ ติดทน สั้นกว่าช่อดอก กาบช่อล่างแต่ละช่อมี 7–9 ดอกย่อย กาบดอกรูปไข่ ยาว 0.8–1.4 ซม. มีเส้นกาบจำนวนมาก กลีบดอก 3 กลีบ ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ 6 อัน อับเรณูสีม่วง ยาว 6–7 มม. กาบดอกกาบล่าง มีเส้นกาบ 7 เส้น ผลแบบผลแห้ง ไม่มีรยางค์
พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยส่วนมากพบทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นหนาแน่นตามที่โล่ง โดยเฉพาะในป่าเต็งรังที่เป็นดินทราย ความสูงระดับต่ำ ๆ
สกุล Vietnamosasa T. Q. Nguyen อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Bambusoideae แยกมาจากสกุล Arundinaria มี 3 ชนิด พบเฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยมี 2 ชนิด อีกชนิดคือ โจด V. ciliata (A. Camus) T. Q. Nguyen ขนาดใหญ่กว่าเพ็ก ยอดอ่อนมีสีม่วง ชื่อสกุลมาจากลักษณะที่คล้ายไผ่สกุล Sasa และประเทศเวียดนาม
| ชื่อพ้อง Arundinaria pusilla A.Chev. & A.Camus
| | | ชื่ออื่น เพ็ก, เพ็ด (ทั่วไป)
| | | | | เพ็ก: ไผ่ขนาดเล็ก แตกกิ่งจำนวนมาก และ โจด: (ภาพล่าง) แตกกอหนาแน่น ช่อดอกออกตามต้นที่ไม่มีใบ (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, มานพ ผู้พัฒน์)
|
เอกสารอ้างอิง | Clayton, W.D., M.S. Vorontsova, K.T. Harman and H. Williamson. (2006 onwards). GrassBase-The Online World Grass Flora. http://www.kew.org/data/grasses-db.html | | Dransfield, S. (2000). Notes on “Pek” and “Chote”, members of the genus Vietnamosasa (Poaceae-Bambusoideae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 28: 163–176. |
|
|