สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   



หมากผู้หมากเมีย
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561

Cordyline fruticosa (L.) A.Chev.

Asparagaceae

ไม้พุ่ม ลำต้นตรงหรือแตกกิ่ง สูง 1–3 ม. มีรอยการติดของใบชัดเจนรอบลำต้น ใบเรียงหนาแน่นที่ยอด รูปใบหอก ยาว 25–50 ซม. ก้านใบยาว 10–30 ซม. โคนพองหุ้มลำต้น เรียงซ้อนก้านใบอื่น ปลายเป็นติ่งแหลม แผ่นใบสีเขียวหรือมีลายหลากสี เป็นร่องด้านบน เส้นแขนงใบเรียงขนานยาวจรดปลายใบ มีเส้นแขนงใบแยกออกจากเส้นกลางใบประมาณจุดกึ่งกลาง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว 30–60 ซม. ช่อแขนงยาว 6–13 ซม. ดอกจำนวนมาก ดอกไร้ก้านหรือมีก้านยาวได้ถึง 4 มม. มีข้อใกล้ปลายก้านดอก ใบประดับ 3 ใบ รูปไข่ ยาว 2–3 มม. ขอบบาง ปลายแหลมยาว ดอกสีแดง เหลือง หรือสีม่วงอมน้ำเงิน กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง หลอดกลีบยาว 5–6 มม. แผ่นกลีบยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก มักพับงอกลับ เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดภายในคอหลอดกลีบดอก ยื่นพ้นหลอดกลีบดอกเพียงเล็กน้อย อับเรณูติดไหวได้ รังไข่มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเป็นตุ่มขนาดเล็ก ผลแห้งแตก เปลือกหนา สีแดง มีหลายเมล็ด สีดำ มีสาร Phytomelanin เคลือบ

มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะแปซิฟิก ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน

สกุล Cordyline Comm. ex R.Br. เคยอยู่ภายใต้วงศ์ Liliaceae, Agavaceae หรือ Laxmanniaceae ซึ่ง 2 วงศ์สุดท้ายปัจจุบันเป็นวงศ์ย่อยของวงศ์ Asparagaceae มีประมาณ 20 ชนิด พบในอเมริกาใต้ เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก และออสเตรเลีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “kordyle” กระบอง ตามลักษณะลำต้นหรือราก

ชื่อพ้อง  Convallaria fruticosa L., Cordyline terminalis (L.) Kunth

ชื่อสามัญ  Cabbage palm, Good luck plant, Palm lily

ชื่ออื่น   มะผู้มะเมีย, หมากผู้หมากเมีย (ภาคกลาง); หมากผู้ (ภาคเหนือ)

หมากผู้หมากเมีย: แผ่นใบสีเขียวหรือมีลาย ผลแห้งแตก เปลือกหนา สีแดง (ภาพ: มานพ ผู้พัฒน์)

เอกสารอ้างอิง

Xinqi, Chen and N.J. Turland. (2000). Liliaceae (Cordyline ). In Flora of China vol. 24: 204.