Index to botanical names
Passifloraceae
ไม้เถาล้มลุก มีขนต่อมยาวตามหูใบ ก้านใบ แผ่นใบ และใบประดับ หูใบจักชายครุยลึก ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 3–13 ซม. โคนแฉกลึก มีต่อมน้ำต้อยใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว 2–6 ซม. ช่อดอกลดรูปคล้ายออกเดี่ยว ๆ ตรงข้ามมีมือจับ ใบประดับและใบประดับย่อยจักลึก เชื่อมติดกัน ติดทน หุ้มผล ดอกสีขาวหรืออมม่วง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายกัน รูปรี ยาว 1.5–2 ซม. ด้านหลังกลีบเลี้ยงมีสันเป็นเขาสีเขียว กะบังเรียง 3–5 วง วงนอกยาวประมาณ 1 ซม. วงในยาว 1–3 มม. ขอบในบาง จานฐานดอกสูง 1–2 มม. ก้านชูเกสรร่วมยาว 5–7 มม. อับเรณูยาวประมาณ 4 มม. รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 4–6 มม. ผลเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–3 ซม. มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เป็นวัชพืชทั่วไป ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร ผลสุกและยอดอ่อนกินได้ ต้นมีพิษต่อสัตว์เลี้ยง
ชื่อสามัญ Love in a mist, Running pop, Stinking passion flower
ชื่ออื่น กระโปรงทอง (ภาคใต้); กะทกรก, รก (ภาคกลาง); เครือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ); ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี); เถาเงาะ, เถาสิงโต (ชัยนาท); ผักขี้หิด (เลย); ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ); เยี่ยววัว (อุดรธานี); ละพุบาบี (มาเลย์-นราธิวาส, ปัตตานี); หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์); หญ้ารกช้าง (พังงา)
กะทกรก: มีขนต่อมยาวทั่วไป หูใบจักชายครุย กะบังเรียงเป็นวง ใบประดับจักลึก หุ้มผล (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)
de Wilde, W.J.J.O. and B.E.E. Duyfjes. (2010). Passifloraceae. In Flora of Thailand Vol. 10(2): 251–257.
Wang, Y., S.E. Krosnick and P.M. Jørgensen. (2007). Passifloraceae (Passiflora). In Flora of China Vol. 13: 141–147.