สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

โป๊ยกั๊กป่า

โป๊ยกั๊กป่า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Illicium tenuifolium (Ridl.) A.C.Sm.

Schisandraceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. ไม่มีหูใบ ใบเรียงเวียนรอบข้อ 3–6 ใบ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก ยาว 7–18 ซม. ปลายเแหลมยาวหรือเป็นติ่งแหลม โคนเรียวสอบ ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบหรือลำต้น ก้านดอกยาว 1–5 ซม. ดอกสีขาวหรืออมชมพู กลีบรวม 11–18 กลีบ เรียง 1–2 ชั้น กลีบวงนอกรูปไข่หรือกลม กลีบวงในรูปขอบขนาน ยาว 3–5 มม. เรียงซ้อนเหลื่อม เกสรเพศผู้ มี 11–16 อัน เรียง 1–2 วง มี 5–8 คาร์เพล เรียงเป็นวง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลมี 5–8 ซีก แตกด้านบนตามรอยประสาน แต่ละซีกยาว 1–1.2 ซม. มีเมล็ดเดียว

พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบชื้น ความสูง 700–1500 เมตร

สกุล Illicium L. เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Illiciaceae มีประมาณ 40 ชนิด ในไทยมี 2–3 ชนิด ชนิด Illicium peninsulare A. C. Sm. ผลมี 13–14 ซีก พบเพียงครั้งเดียวที่พังงา คล้ายกับ I. cambodianum Hance ซึ่งอาจพบทางภาคตะวันออกของไทยแถบชายแดนกัมพูชา อนึ่ง โป๊ยกั๊กจีนหรือจันทน์แปดกลีบ I. verum Hook.f. หรือ Star Anise พบเฉพาะในจีนและเวียดนามทางตอนบน เป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกมากในมณฑลกวางซีของจีน ให้น้ำมันหอมระเหย และใช้เป็นเครื่องเทศ เมล็ดมีสาร shikimic acid เป็นส่วนผสมสำคัญของยา Tamiflu ที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดนก ชื่อสกุลหมายถึงกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ดึงดูดใจ

ชื่อพ้อง  Illicium cambodianum Hance var. tenuifolium Ridl.

โป๊ยกั๊กป่า: ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามลำต้น กลีบรวมเรียงซ้อนเหลื่อม เกสรเพศผู้เรียง 1–2 วง ผลออกตามลำต้นหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีประมาณ 8 ซีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Keng, H. (1972). Illiciaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 115–116.

Liu, Y., N. Xia and R.M.K. Saunders. (2008). Illiciaceae. In Flora of China Vol. 7: 32.