สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

แสลงพัน

แสลงพัน  สกุล
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Phanera Lour.

Fabaceae

ไม้เถา มีมือจับ หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน เรียบหรือแฉกลึก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อเชิงหลั่น หรือช่อแยกแขนง ใบประดับและใบประดับย่อยร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 3–5 กลีบ แฉกลึก กลีบดอก 5 กลีบ มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ส่วนมากมี 3 อัน พบน้อยที่มี 2 อัน รังไข่มี 1 ช่อง มีก้านสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มหรือรูปจาน ผลเป็นฝักแบน แห้งแตกหรือไม่แตก

สกุล Phanera เคยรวมอยู่ภายใต้สกุล Bauhinia ซึ่งปัจจุบันได้ถูกจำแนกออกเป็นหลายสกุล เช่น Phanera, Lasiobema และ Lysiphyllum เป็นต้น มีประมาณ 84 ชนิด ส่วนมากพบในเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 20 ชนิด และพบเป็นไม้ประดับ 1 ชนิด คือ สาวปีนัง P. kockiana (Korth.) Benth. พบเฉพาะในภูมิภาคมาเลเซีย ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “phaneros” แปลว่าชัดเจน หมายถึงลักษณะดอกที่ค่อนข้างใหญ่เห็นชัดเจน

สาวปีนัง: ใบเรียบ ไม่แยกเป็นแฉก ดอกสีเหลืองอมชมพูเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

แสลงพัน
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Lasiobema pulla (Craib) A.Schmitz

Fabaceae

ดูที่ แสลงพันเถา

แสลงพัน
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Phanera involucellata (Kurz) de Wit

Fabaceae

ไม้เถา มีขนละเอียดสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และตาดอก ใบรูปไข่ ยาว 6–15 ซม. ปลายแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง เส้นใบ 9–11 เส้น ก้านใบยาว 3–7 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ตาดอกรูปขอบขนาน ใบประดับรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ติดใกล้โคนฐานดอก ติดทน ก้านดอกยาว 0.6–1 ซม. ฐานดอกยาว 0.7–1 ซม. กลีบเลี้ยงแยกเป็น 4–5 ส่วน ยาว 1–1.5 ซม. พับงอกลับ ดอกสีเหลืองอ่อนอมเขียว กลีบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 ซม. ขอบจักเป็นคลื่น ก้านกลีบยาวกว่าแผ่นกลีบเล็กน้อย สีแดง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 3 ซม. สีเขียวเปลี่ยนเป็นสีแดง อับเรณูยาว 4–5 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 7 อัน สีแดง ยาว 0.7–1.5 ซม. อับเรณูคล้ายรูปหัวใจ รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มม. ฝักแบน รูปใบหอก ยาวได้ถึง 12 ซม. มีประมาณ 5 เมล็ด เมล็ดแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม.

พบที่พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือที่ลำปาง ภาคตะวันออกที่นครราชสีมา และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง หรือเขาหินปูนเตี้ย ๆ

ชื่อพ้อง  Bauhinia involucellata Kurz

แสลงพัน: ใบประดับย่อยติดใกล้โคนฐานดอก กลีบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปสามเหลี่ยม ก้านกลีบยาวกว่าแผ่นกลีบเล็กน้อย สีแดง (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)

แสลงพัน
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Phanera bracteata Benth.

Fabaceae

ดูที่ ปอเจี๋ยน

แสลงพันกระดูก
วันที่ 2 ตุลาคม 2560

Phanera similis (Craib) de Wit

Fabaceae

ไม้เถา มีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลเทาตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และตาดอก ใบรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง 9 ซม. ปลายแฉกลึกมากกว่าหรือประมาณกึ่งหนึ่ง เส้นใบ 11–13 เส้น ก้านใบยาว 1.5–3 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ตาดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแหลมเป็นแฉกตื้น ๆ ใบประดับรูปแถบ ยาว 0.7–1.6 ซม. ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ติดประมาณกึ่งกลางหรือต่ำกว่าบนก้านดอก ก้านดอกยาว 3–8 ซม. ฐานดอกยาว 3–5 มม. กลีบเลี้ยงแยกเป็น 4–5 ส่วน พับงอ ยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกสีขาวอมเขียว กลีบรูปใบพาย โคนเรียวจรดก้านกลีบ ยาว 2.5–3 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านกลีบสีแดง ก้านชูอับเรณูยาว 3–3.5 ซม. โคนก้านและอับเรณูสีแดง ยาว 2–3 มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 7 อัน ยาวประมาณ 1.5 ซม. รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียยาวเท่า ๆ รังไข่ ยอดเกสรรูปโล่ ฝักแบน รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 10–15 ซม.

พบที่พม่า และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือที่แพร่ น่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคกลางที่สระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูง 200–300 เมตร

ชื่อพ้อง  Bauhinia similis Craib

แสลงพันกระดูก: ใบประดับย่อยติดประมาณกึ่งกลางหรือต่ำกว่าบนก้านดอก กลีบดอกรูปใบพาย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Chadburn, H. (2012). Bauhinia kockiana. The IUCN Red List of Threatened Species 2012: e.T19892741A20124252. http://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2012.RLTS.T19892741A20124252.en

Larsen, K., S.S. Larsen and J.E. Vidal. (1984). Leguminosae-Caesalpinioideae (Bauhinia involucellata). In Flora of Thailand Vol. 4(1): 37–38.

Mackinder, B.A. and R. Clark. (2014). A synopsis of the Asian and Australasian genus Phanera Lour. (Cercideae: Caesalpinioideae: Leguminosae) including 19 new combinations. Phytotaxa 166(1): 49–68.