สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

อังกาบ

อังกาบ  สกุล
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria L.

Acanthaceae

ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม มีหนามหรือไม่มี ใบเรียงตรงข้าม ขอบเรียบ แผ่นใบมีผลึกซิสโทลิทกระจาย ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ หรือคล้ายช่อเชิงลดออกที่ปลายกิ่ง ใบประดับคล้ายใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ดอกรูปแตรหรือรูปดอกเข็ม สมมาตรด้านข้าง กลีบบน 4 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม กลีบล่าง 1 กลีบ ส่วนมากแผ่กว้างกว่ากลีบบนเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 2 อัน หรือมี 2 คู่ไม่เท่ากัน หรือ 2 อันเป็นหมัน โคนก้านชูอับเรณูมีขน บางครั้งมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน 1 อัน รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรแยก 2 พูหรือเรียบ เมล็ดส่วนมากมีขนที่ไวต่อความชื้น (hygroscopic hairs)

สกุล Barleria มีประมาณ 230 ชนิด ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและเอเชีย ในไทยมีพืชพื้นเมืองมากกว่า 5 ชนิด เป็นวัชพืชและไม้ประดับ 3–4 ชนิด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Jacques Barrelier (1606–1673)


อังกาบ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria cristata L.

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. มีขนสั้นนุ่มตามลำต้นโดยเฉพาะตามข้อและเส้นแขนงใบ ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 3–12 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนสอบเรียว ก้านใบยาวได้ถึง 2 ซม. ใบตามกิ่งสั้นขนาดเล็ก ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบหรือคล้ายช่อเชิงลดที่ปลายกิ่ง ใบประดับรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 0.8–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงขอบจักเป็นติ่งหนาม ปลายแหลมยาว คู่นอกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. คู่ในรูปใบหอก ยาว 6–7 มม. ดอกสีม่วง ชมพู หรือขาว หลอดกลีบดอกยาว 3–4 ซม. กลีบบนรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ไม่เท่ากัน อันยาวยื่นเลยปากหลอดกลีบ ก้านเกสรเพศเมียยาวได้ถึง 4 ซม. ผลรูปรี ยาว 1.5–2 ซม. เรียวแหลมทั้งสองด้าน เมล็ดแบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. มีขน

พบที่อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และฟิลิปปินส์ ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร เป็นไม้ประดับ มีสรรพคุณลดการอักเสบ บรรเทาอาการหมดสติจากภาวะน้ำตาลลด และอาการเกร็ง

ชื่อสามัญ  Bluebell Barleria, Crested Philippines violet

ชื่ออื่น   ก้านชั่ง, ลืมเฒ่าใหญ่ (เชียงใหม่), คันชั่ง (ตาก), ทองระอา (กรุงเทพฯ), อังกาบ, อังกาบเมือง (ภาคกลาง), อังกาบกานพลู (ภาคเหนือ)

อังกาบ: กลีบเลี้ยงขอบจักเป็นติ่งหนาม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ และลูกผสมที่มีปื้นสีขาว ปลูกเป็นไม้ประดับ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

อังกาบเมือง
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria cristata L.

Acanthaceae

ดูที่ อังกาบ

อังกาบแดง
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria repens Nees

Acanthaceae

ไม้พุ่มทอดนอน สูงได้ถึง 1.5 ม. ใบขนาดเล็ก รูปรี ยาว 2–5 ซม. ปลายแหลมหรือกลม โคนสอบเรียว ช่อดอกมี 1–2 ดอก ใบประดับรูปไข่ ขยายและหุ้มผล กลีบเลี้ยงรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 ซม. มีขนกระจาย คู่นอกมีขนาดใหญ่กว่าคู่ในเล็กน้อย ดอกสีปูนแห้งอมแดง หรือม่วง หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 4–5 ซม. กลีบบนรูปไข่ ยาว 1–1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 2 คู่ไม่เท่ากัน อันยาวยื่นเลยปากหลอดกลีบ ผลยาว 1.5–2 ซม. มี 2 หรือ 4 เมล็ด แบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 6–7 มม.

มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตอนใต้ เป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน บางครั้งกลายเป็นวัชพืช

ชื่อสามัญ  Coral Creeper

อังกาบแดง: ใบขนาดเล็ก ดอกสีปูนแห้งอมแดง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

อังกาบกานพลู
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria cristata L.

Acanthaceae

ดูที่ อังกาบ

อังกาบหนู
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

Barleria prionitis L.

Acanthaceae

ไม้พุ่ม สูง 1–1.5 ม. เกลี้ยง มีหนามรอบข้อ ยาว 1–2 ซม. ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ยาว 4–12 ซม. ปลายแหลม มีติ่งแหลม โคนสอบเรียว ขอบมีขนแข็ง แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาวได้ถึง 2.5 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงลดสั้น ๆ ใบประดับรูปแถบ ยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับย่อยเป็นหนาม ติดทน ยาว 1–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงคู่นอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ปลายมีติ่งหนาม กลีบคู่ในรูปไข่ ปลายแหลมยาว ดอกสีเหลืองอมส้ม หลอดกลีบดอกยาว 2–2.5 ซม. กลีบบนยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก กลีบล่างขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นเลยปากหลอดกลีบเล็กน้อย เป็นหมัน 2 อัน ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ผลรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–2 ซม. ปลายมีจะงอย เมล็ดแบน รูปไข่ ยาว 5–7 มม. มีขนคล้ายไหม

พบทั่วไปในแอฟริกา เป็นวัชพืชในเอเชียเขตร้อน ขึ้นหนาแน่นตามเขาหินปูนที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ทุกส่วนมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะแก้ปวดฟัน มีความผันแปรสูง แยกเป็นหลายชนิดย่อย ตามลักษณะช่อดอก สิ่งปกคลุมบนดอกและผล และความยาวของหนาม

ชื่อสามัญ  Porcupine flower

ชื่ออื่น   เขี้ยวแก้ว, เขี้ยวเนื้อ, อังกาบหนู (ภาคกลาง); มันไก่ (ภาคเหนือ)

อังกาบหนู: ช่อดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงลด ใบประดับย่อยเป็นหนาม ดอกสีเหลืองอมส้ม กลีบบนยาวเท่า ๆ หลอดกลีบดอก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Bremekamp, C.E.B. (1961). Scrophulariaceae, Nelsonieae, Thunbergiaceae, Acanthaceae. Dansk Botanisk Arkiv 20(1): 65.

Hu, J.Q. and T.F. Daniel. (2011). Acanthaceae (Barleria). In Flora of China Vol. 19: 468–469.

Staples, G.W. and D.R. Herbst. (2005). A tropical garden flora. Bishop Museum Press, Honolulu, Hawai`i.

Wood, J.R.I., D. Hillcoat and R.K. Brummitt. (1983). Notes on the types of some names of Arabian Acanthaceae in Forsskal herbarium. Kew Bulletin 38: 436–442.