สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

สาละ

สาละ
วันที่ 30 สิงหาคม 2560

Shorea robusta C.F.Gaertn.

Dipterocarpaceae

ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง 40 ม. เปลือกหนาแตกเป็นร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่มตามช่อดอก ก้านดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก หูใบรูปเคียวยาวประมาณ 8 มม. ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 10–40 ซม. ปลายแหลม โคนเว้าตื้น แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 10–12 เส้น ก้านใบยาว 2–2.5 ซม. ใบแก่สีเหลือง ช่อดอกยาวได้ถึง 25 ซม. ก้านดอกยาว 1–2 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มม. ดอกสีครีมมีปื้นชมพู กลีบรูปแถบ บิดเวียน ยาว 1–1.5 ซม. โคนกลีบซ้อนกันรูปถ้วย เกสรเพศผู้จำนวนมากเรียง 3 วง อับเรณูรูปไวโอลิน มีขนกระจาย แกนอับเรณูปลายมีติ่งสั้น ๆ รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ก้านเกสรเพศเมียมีขนสั้นนุ่มที่โคน ยอดเกสรเพศเมียจัก 3 พู ผลรูปรีกว้าง ยาว 1–2 ซม. มีขนละเอียด ปีกยาว ยาว 5–8 ซม. มีเส้นปีก 7–9 เส้น เกลี้ยง ปีกสั้นยาวได้ถึง 3.5 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ พะยอม, สกุล)

มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กระจายเป็นผืนกว้างคล้ายป่าเต็งรังของไทย เปลือกมีรสฝาด ใช้รักษาแผลและอาการคันจากการแพ้ ชันและน้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันชักเงา สาละเป็นไม้ในพุทธประวัติเกี่ยวข้องกับการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน สำหรับต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประสูติบางครั้งมีความสับสนระหว่างต้นสาละ และต้นโสก Saraca asoca (Roxb.) W.J.de Wilde หรือ Asoka tree ที่ชาวอินเดียนิยมใช้บูชาพระและถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ชื่อสาละหรือ Sal เป็นภาษาฮินดูที่เรียกต้นสาละ ลักษณะทั่วไปคล้ายกับต้นรัง Shorea siamensis Miq. แต่รังใบแก่สีแดง เกสรเพศผู้มี 15 อัน เส้นแขนงใบมีมากกว่า และมีขนสั้นรูปดาวประปราย

ชื่อสามัญ  Sal tree

สาละ: ป่าสาละบริเวณอุทยานแห่งชาติเชตุวันฯ คล้ายกับป่าเต็งรังของไทย แผ่นใบเกลี้ยง กลีบดอกบิดเวียน โคนกลีบเรียงซ้อนกันเป็นรูปถ้วย ผลมีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ณรงค์ นันทะแสน)



เอกสารอ้างอิง

FAO. (1985). Dipterocarps of South Asia. RAPA Monograph 1985/4. FAO Regional Office for Asia and the Pacific: 198–216.

Hou, D. (1996). Caesalpiniaceae (Leguminosae-Caesalpinioideae) (Saraca). In Flora Malesiana Vol. 12: 662–664.

Li, X.W., J. Li and P.S. Ashton. (2007). Dipterocarpaceae. In Flora of China Vol. 13: 52.