สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

สนสองใบ

สนสองใบ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

Pinus latteri Mason

Pinaceae

ไม้ต้น สูง 30–50 ม. เปลือกหนาแตกเป็นร่องลึก สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ใบมี 2 ใบในแต่ละกระจุก ตัดขวางรูปสามเหลี่ยม ยาว 15–25 ซม. ติดทนประมาณ 2 ปี โคนเมล็ดออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ รูปไข่แคบ ยาว 4.5–11 ซม. ก้านโคนยาวได้ถึง 1 ซม. เกล็ดหนารูปคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแคบ ๆ เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปไข่ แบนเล็กน้อย ยาว 6–7.5 มม. ปีกยาว 1.5–2.5 ซม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ สนเขา, สกุล)

พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นกระจายห่าง ๆ ในป่าเต็งรัง และป่าดิบเขา บางครั้งพบหนาแน่นเป็นผืนป่าขนาดใหญ่และขึ้นปนกับสนสามใบ ความสูง 150–1400 เมตร

หมายเหตุ เดิมเข้าใจว่าเป็น Pinus merkusii Jungh. & de Vriese ซึ่งพบเฉพาะทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งต้นกล้าไม่มีระยะ grass stage

ชื่อสามัญ  Tenasserim Pine, Two-needled pine

ชื่ออื่น   เกี๊ยะเปลือกดำ (ภาคเหนือ); เกี๊ยะเปลือกหนา (เชียงใหม่); จ๋วง (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); เชียงเซา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); โช (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ไต้ (ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี); แปก (เลย, เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); สนเขา, สนสองใบ, สนหางม้า (ภาคกลาง); สะรอล (เขมร-สุรินทร์)

สนสองใบ: ปลือกหนาแตกเป็นร่องลึก สีน้ำตาลเข้มหรือดำ มี 2 ใบในแต่ละกระจุก โคนรูปไข่แคบ (ภาพ: ปิยชาติ ไตรสารศรี, ธรรมรัตน์ พุทธไทย)



เอกสารอ้างอิง

Farjon, A. (2001). World Checklist and Bibliography of Conifers (second edition). Royal Botanical garden, Kew.

Phengklai, C. (1972). Pinaceae. In Flora of Thailand Vol. 2(2): 193–194.

Thomas, P. (2013). Pinus latteri. The IUCN Red List of Threatened Species 2013: e.T34190A2850102. http://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2013-1.RLTS.T34190A2850102.en.