สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

พูสลัก

พูสลัก  สกุล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Epiprinus Griff.

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น หูใบขนาดเล็ก โคนมีต่อม ใบเรียงเวียน มีต่อมคู่ที่โคนใบติดก้านใบด้านล่าง ดอกมีเพศเดียว ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ดอกเพศผู้ไร้ก้าน ออกเป็นกระจุกอยู่ช่วงบน ดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่า มีก้าน ออกเดี่ยว ๆ อยู่ช่วงล่าง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยงมี 2–6 กลีบ ในดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียมี 5–6 กลีบ ระหว่างกลีบเลี้ยงมีริ้วประดับขนาดเล็ก ปลายอับเรณูมีรยางค์ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 3 พู รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยอดเกสรมี 3 แฉก ปลายแยก 2 แฉก มีปุ่มกระจาย ผลแห้งแตกเป็น 3 ซีก จัก 2–3 พู มีขนกระจุกสั้นนุ่ม เมล็ดไม่มีเยื่อหุ้ม มีลาย

สกุล Epiprinus อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Acalyphoideae มีประมาณ 6 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 2 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “epi” ด้านบน และ “prinos” สีน้ำตาลแดง ตามลักษณะของกลีบเลี้ยง


พูสลัก
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Epiprinus malayanus Griff.

Euphorbiaceae

ดูที่ พูสลักแดง

พูสลัก
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Epiprinus siletianus (Baill.) Croizat

Euphorbiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 7 ม. มีขนรูปดาวสั้นนุ่มตามกิ่ง ช่อดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก ใบเรียงเวียนคล้ายเรียงรอบข้อที่ปลายกิ่ง รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 6–24 ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้าตื้น แคบ ๆ เส้นแขนงใบข้างละ 12–15 เส้น ก้านใบยาว 3–5 มม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาว 5–10 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 1–3 มม. ดอกเพศผู้กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ 1 มม. เกสรเพศผู้ 3–6 อัน ดอกเพศเมียก้านสั้น กลีบเลี้ยงยาว 2–3 มม. รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 มม. ผลรูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.8 ซม.

พบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อพ้อง  Symphyllia siletiana Baill.

พูสลัก: ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ใบเรียงเป็นวง ดอกเพศเมียอยู่ด้านล่าง หูใบขนาดเล็ก มีต่อมที่โคน ผลรูปกลม ๆ จักเป็นพู กลีบเลี้ยงไม่ขยายใหญ่ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

พูสลักแดง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Epiprinus malayanus Griff.

Euphorbiaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 20–34 ซม. ปลายแหลมยาว โคนมนหรือรูปหัวใจ เส้นแขนงใบข้างละ 5–7 เส้น ก้านใบยาว 8–16 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 23 ซม. ดอกเพศผู้กลีบเลี้ยงรูปรีกว้าง ยาว 2–3 มม. ด้านนอกมีขนกระจุกรูปดาวกระจาย เกสรเพศผู้ 5–15 อัน ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยง 6 กลีบ สีม่วงแดง ขยายหุ้มผลยาวได้ถึง 4 ซม. โคนมีต่อม 2 ต่อม ผลจัก 3 พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. สีแดง

พบที่พม่า สุมาตรา และหมู่เกาะโมลุกกะของอินโดนีเซีย ในไทยส่วนมากพบทางภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้พบที่จันทบุรี ภาคตะวันตกเฉียงใต้พบที่กาญจนบุรี ขึ้นริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูง 100–300 เมตร

พูสลักแดง: ช่อดอกแบบช่อเชิงลดแยกแขนง ดอกเพศผู้อยู่ด้านบน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ อยู่ด้านล่าง ก้านใบยาว กลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ขยายในผล ผลมี 3 พู (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

พูสลักใบดก
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

Epiprinus siletianus (Baill.) Croizat

Euphorbiaceae

ดูที่ พูสลัก



เอกสารอ้างอิง

Chayamarit, K. (2005). Euphorbiaceae (Epiprinus). In Flora of Thailand Vol. 8(1): 257–259.

Qiu, H. and M.G. Gilbert. (2008). Euphorbiaceae (Epiprinus). In Flora of China Vol. 11: 249.