สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักเบี้ย

ผักเบี้ย  สกุล
วันที่ 30 มกราคม 2560

Galium L.

Rubiaceae

ไม้เถาล้มลุก ลำต้นมักเป็นสี่เหลี่ยม ใบและหูใบเรียงรอบข้อ 4–10 ใบ ส่วนมากมีเส้นกลางใบเส้นเดียว หรือเส้นโคนใบ 3 เส้น ก้านสั้นมากหรือไร้ก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมักฝ่อ ดอกรูปกงล้อ สีเขียวอมขาวหรือเหลือง มี 4 กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 4 อัน อับเรณูยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก จานฐานดอกแยก 2 พู ติดด้านบนรังไข่ รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียแยก 2 แฉก ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแยกเป็น 2 พู บางครั้งฝ่อหนึ่งพู

สกุล Galium อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rubioideae คล้ายกับสกุล Rubia ที่มีผลสด มีกว่า 400 ชนิด พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยมี 2 ชนิด มีความผันแปรสูง ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “galion” ที่ใช้เรียกพืชในสกุลนี้ชนิด G. verum L.


ผักเบี้ย
วันที่ 30 มกราคม 2560

Galium asperifolium Wall.

Rubiaceae

ไม้เถาล้มลุก แตกกิ่งจำนวนมาก เกลี้ยงหรือมีขนยาว ใบเรียงรอบข้อ 2–6 ใบ รูปใบหอก รูปแถบ หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.5–2.5 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนเรียวสอบ แผ่นใบมีขนคายตามขอบใบและเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนหนาแน่นหรือเกลี้ยง มีเส้นกลางใบ 1 เส้น ไร้ก้าน ช่อดอกยาวได้ถึง 18 ซม. ใบประดับคล้ายใบ ยาว 1–4 มม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. ขยายในผล ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. กลีบแฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง รังไข่เกลี้ยง ผลเกลี้ยง มักฝ่อหนึ่งพู รูปกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มม.

พบที่อัฟกานิสถาน เนปาล อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคมาเลเซีย ในไทยพบที่ดอยอินทนนท์และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามชายป่าดิบเขาหรือที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง 2100–2550 เมตร

ผักเบี้ย: ใบเรียงเวียนรอบข้อ 2–6 ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบดอก 4 กลีบ อับเรณูยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลเกลี้ยง มักฝ่อหนึ่งพู รูปกลม ๆ (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ผักเบี้ยขน
วันที่ 30 มกราคม 2560

Galium elegans Wall. ex Roxb.

Rubiaceae

ไม้เถาล้มลุก ยาวได้ถึง 1 ม. ลำต้นมีขนสีขาวหนาแน่น ใบเรียงเป็นวงรอบข้อ 4 ใบ รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 0.8–3 ซม. ปลายมนหรือกลม โคนแหลมหรือมน แผ่นใบมีขนยาวสีขาวทั้งสองด้าน เส้นโคนใบ 3 เส้น ก้านใบสั้นมากหรือยาว 4–5 มม. ช่อดอกยาวได้ถึง 10 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 0.5–2.5 มม. ใบประดับเรียวแคบ ยาว 1–3 มม. ดอกสีเหลืองอมขาว ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.5 มม. รังไข่มีขน ผลรูปกลม ๆ หรือรูปคล้ายไต จัก 2 พู เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–1.5 ซม. มีขนยาวสีขาวหนาแน่น

พบที่ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน พม่า ชวา ฟิลิปปินส์ ในไทยพบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามป่าดิบเขาหรือบนที่โล่งเขาหินปูน ความสูง 1000–2200 เมตร

ชื่อพ้อง  Galium panduanum Steud., G. petiolatum Geddes

ผักเบี้ยขน: ใบเรียงเป็นวงรอบข้อ 4 ใบ เส้นโคนใบ 3 เส้น ผลมีขนยาวหนาแน่น (ภาพ: โสมนัสสา แสงฤทธิ์)



เอกสารอ้างอิง

Chen, T. and F. Ehrendorfer. (2011). Rubiaceae (Galium). In Flora of China Vol. 19: 104, 113, 122.