สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ผักหนอก

ผักหนอก  สกุล
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle L.

Apiaceae

ไม้ล้มลุก มีรากตามข้อ หูใบบาง ใบเรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ส่วนมากเป็นช่อเดี่ยว ๆ ออกตรงข้ามใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดแนบติดรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉกขนาดเล็กหรือไม่มี กลีบดอก 5 กลีบ สีเขียวอ่อนหรือสีครีม เกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่ใต้วงกลีบ มี 2 คาร์เพล แต่ละคาร์เพลมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน ติดทน ผลแห้งแยกเป็น 2 ซีก แต่ละซีกมี 5 สัน เปลือกแข็ง

สกุล Hydrocotyle มีกว่า 100 ชนิด พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในไทยเคยมีรายงาน 4 ชนิด และพบเพิ่มอีกชนิด คือ H. pseudoconferta Masam. ที่กระจายมาจากจีนตอนใต้ ส่วน H. chiangdaoensis Murata เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีแว่นแก้ว H. umbellata L. ที่พบเป็นไม้ประดับหรือขึ้นเป็นวัชพืช ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “hydor” น้ำ และ “kotyle” ถ้วยขนาดเล็ก ตามลักษณะถิ่นที่อยู่และรูปร่างของใบแบบก้นปิด

แว่นแก้ว: ใบรูปก้นปิด ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม แยกแขนง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ผักหนอก
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle siamica Craib

Apiaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดนอน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มตามลำต้น แผ่นใบ และก้านใบ ใบรูปสามเหลี่ยมกว้าง ส่วนมากด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว กว้าง 5–11 ซม. ขอบจักเป็นเหลี่ยม 5–7 แฉก โคนรูปหัวใจลึก ขอบจักมนหรือจักฟันเลื่อย เส้นโคนใบ 7–9 เส้น ก้านใบยาว 5–20 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5–17 ซม. ดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว 5–8 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 มม. ผลกลมแป้น กว้างประมาณ 2.5 มม. ยาวประมาณ 1.5 มม. มีสันนูนและขนสั้นแข็ง

พบในพม่า และทางภาคเหนือของไทยที่เชียงใหม่ เชียงราย ขึ้นตามป่าดิบเขาใกล้ลำธาร ความสูง 1000–2000 เมตร คล้ายกับ H. hookerii (C.B.Clarke) Craib ซึ่งผลไม่มีขนแข็งสั้น

ผักหนอก: ขอบจักเป็นเหลี่ยม 5–7 แฉก โคนรูปหัวใจลึก ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อยาว ผลมี 2 ซีก มีขนสั้นแข็งปกคลุม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ผักหนอกเขา
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle javanica J.P.Ponten ex Thunb.

Apiaceae

ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดนอน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ใบรูปไข่กว้าง ส่วนมากด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว กว้าง 3–9 ซม. ขอบจักมน 5–7 จัก หรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย โคนรูปหัวใจตื้น ๆ ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงใบทั้งสองด้าน เส้นโคนใบ 7–9 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 17 ซม. มีขนยาว ช่อดอกออกเป็นกระจุกหลายช่อ ส่วนมากก้านช่อยาวไม่เกิน 2 ซม. มักสั้นกว่าก้านใบ ดอกจำนวนมาก ก้านดอกสั้นมากหรือยาวได้ถึง 2 มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน มักมีแต้มสีม่วงแดง ยาวประมาณ 1 มม. ผลกลมแป้น กว้าง 1.5–1.8 มม. ยาว 1–1.3 มม. เกลี้ยง

พบในเอเชียเขตร้อน จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขึ้นตามที่ชื้นแฉะหรือชายป่า ความสูงถึงประมาณ 2000 เมตร ทั้งต้นมีสรรพคุณด้านสมุนไพรหลายอย่าง ใบหรือทั้งต้นใช้เบื่อปลาหรือเป็นยาฆ่าแมลง

ชื่อพ้อง  Hydrocotyle nepalensis Hook., H. polycephala Wight & Arn.

ชื่อสามัญ  Java pennywort

ชื่ออื่น   กะเซดอมีเดาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); บัวบกเขา (นครศรีธรรมราช); ผักแว่นเขา (ตราด); ผักหนอก (ภาคใต้); ผักหนอกเขา, ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ); ผักหนอกดอย (เชียงใหม่); ผักหนอกป่า (แม่ฮ่องสอน)

ผักหนอกเขา: ใบด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว ผลเกลี้ยง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ผักหนอกใบเล็ก
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle pseudoconferta Masam.

Apiaceae

ไม้ล้มลุก เกาะเลื้อย ยาวได้ถึง 30 ซม. แตกกิ่งจำนวนมาก แผ่นใบรูปกลม จักตื้น ๆ 5–7 แฉก ด้านกว้างยาวกว่าด้านยาว ยาว 1–2.5 ซม. พูจักมน โคนแฉกลึกรูปหัวใจ แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียด ก้านใบยาว 2–10 ซม. ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามข้อ ไร้ก้าน ช่อที่ปลายกิ่งส่วนมากออกเป็นคู่หรือช่อแยกแขนง ดอกไร้ก้านหรือมีก้านสั้นมาก กลีบดอกมีต่อมใสสีอมเหลือง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.5 มม. ผลกลมแป้น ยาว 1–1.2 มม. กว้าง 1.5–2 มม. ส่วนมากมีลายสีม่วงแต้มหรือมีขนสีขาว

พบที่พม่า จีนตอนใต้ และไต้หวัน ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ขึ้นตามที่โล่งชายป่าดิบเขา ความสูงประมาณ 1200 เมตร

ผักหนอกใบเล็ก: ขอบใบจักเป็นพูตื้น ๆ ช่อดอกออกตามข้อ ไร้ก้าน (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ปรีชา การะเกตุ)

ผักหนอกช้าง
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle javanica J.P.Ponten ex Thunb.

Apiaceae

ดูที่ ผักหนอกเขา

ผักหนอกดอย
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle javanica J.P.Ponten ex Thunb.

Apiaceae

ดูที่ ผักหนอกเขา

ผักหนอกป่า
วันที่ 30 มกราคม 2560

Hydrocotyle javanica J.P.Ponten ex Thunb.

Apiaceae

ดูที่ ผักหนอกเขา



เอกสารอ้างอิง

Hedge, I.C. and J.M. Lamond. (1992). Umbelliferae. In Flora of Thailand Vol. 5(4): 443–447.

Menglan, S., M.F. Watson and J.F.M. Cannon. (2005). Apiaceae. In Flora of China Vol. 14: 14–15.