สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปาหนัน

ปาหนัน  สกุล
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Goniothalamus (Blume) Hook.f. & Thomson

Annonaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงเวียนหรือเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีดอกเดียวหรือหลายดอกตามซอกใบ กิ่ง หรือลำต้น ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง เรียงจรดกัน วงนอกหนา วงในขนาดเล็ก มีก้านสั้น ๆ ปลายมักติดกันรูปกรวย เกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปแถบ หันออก ปลายมีรยางค์ มีหลายคาร์เพล แยกกัน แต่ละคาร์เพลมีออวุล 1–10 เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเรียบหรือจัก 2 พู ผลกลุ่ม ผลย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ

สกุล Goniothalamus เดิมอยู่ภายใต้สกุล Polyalthia sect. Goniothalamus Blume มี 130–140 ชนิด พบเฉพาะในเอเชียเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 25 ชนิด และส่วนใหญ่พบทางภาคใต้ ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “gonia” เหลี่ยมหรือมุม และ “thalamos” โคนดอก หมายถึงโคนดอกหรือฐานดอกมักเป็นเหลี่ยม


ปาหนันช้าง
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Goniothalamus giganteus Hook.f. & Thomson

Annonaceae

ไม้ต้น สูง 10–20 ม. ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 15–25 ซม. แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างเขียวนวล ก้านใบยาว 0.5–1.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามกิ่งที่ซอกใบที่ร่วง ก้านดอกยาว 2.5–4.5 ซม. กลีบเลี้ยง รูปไข่แกมสามเหลี่ยมยาวได้ถึง 1 ซม. ด้านนอกมีขน กลีบดอกหนาสีเขียวอมเหลือง วงนอกรูปไข่หรือแกมขอบขนาน ยาว 8–15 ซม. วงในรูปสามเหลี่ยมยาว 1.5–2 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นสีน้ำตาลหนาแน่น เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. รูปแถบ รยางค์แบนหรือโค้ง คาร์เพลรูปทรงกระบอก ยาว 6–7 มม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียรูปแถบ ยอดเกสรรูปกรวยแคบ ๆ ผลย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3–4.5 ซม. ผิวมีตุ่ม ก้านผลยาวได้ถึง 1 ซม. มี 1–2 เมล็ด

พบที่คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว และภาคใต้ตอนล่างของไทยที่ยะลา นราธิวาส ขึ้นตามป่าพรุหรือป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 900 เมตร มีสารกลุ่ม acetogenins มีสรรพคุณใช้ฆ่าแมลง

ปาหนันช้าง: ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามกิ่งที่ซอกใบที่ร่วง กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง สีเขียวอมสีเหลือง ผลแบบผลกลุ่ม จำนวนมาก ผิวมีตุ่ม (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ปาหนันยูนนาน
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Goniothalamus cheliensis Hu

Annonaceae

ไม้ต้น สูง 5–7 ม. กิ่งมีขนยาว มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นตามเส้นกลางใบ ก้านใบ กลีบเลี้ยง และกลีบดอก ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 50–75 ซม. ปลายยาวคล้ายหาง ยาวได้ถึง 5 ซม. เส้นแขนงใบข้างละ 25–30 เส้น ก้านใบยาว 1.7–3 ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามกิ่งหรือลำต้น กลีบเลี้ยงรูปรี ยาว 3–4 ซม. ปลายแหลมยาว กลีบดอกรูปรี ปลายกลีบแหลมยาว วงนอกหนา ยาว 6–8 ซม. วงในยาวประมาณ 3.5 ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 6–9 ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนหยาบสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านสั้น มี 4 เมล็ด รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5 ซม.

พบที่จีนตอนใต้และภาคเหนือของไทยที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1300–1400 เมตร

ปาหนันยูนนาน: ใบรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ดอกออกตามลำต้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนสั้นหนานุ่ม ผลย่อยจำนวนมาก มีขนหยาบสีน้ำตาลแดงหนาแน่น (ภาพ: Alan Mauric, ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Li, B. and M.G. Gilbert. (2011). Annonaceae (Goniothalamus). In Flora of China Vol. 19: 684–685.

Saunders, R.M.K. and P. Chalermglin. (2008). A synopsis of Goniothalamus species (Annonaceae) in Thailand, with descriptions of three new species. Botanical Journal of the Linnean Society 156: 355–384.