Index to botanical names
ปันแถ
Fabaceae
ไม้เถา ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้น หูใบร่วงเร็ว ใบประกอบ 2 ชั้น บนแกนระหว่างใบประกอบย่อยมีต่อม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อเชิงหลั่น ออกเดี่ยว ๆ หรือแยกแขนง ดอกมีก้านหรือไร้ก้าน หลอดเกสรเพศผู้ยาวกว่าหลอดกลีบดอกถ้าดอกมีประเภทเดียว บางครั้งดอกวงนอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกวงในเป็นดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มี 5 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ฝักแห้งแตกหรือไม่แตก เมล็ดมีรอยรูปตัวยูสกุล Albizia อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Mimosoideae เผ่า Ingeae มีประมาณ 150 ชนิดในไทยมี 12 ชนิด รวมไม้ต่างถิ่น 1 ชนิด คือ จามจุรี Albizia saman (Jacq.) Merr. แต่ไม่รวมมะขามแขก Cathormion umbellatum (Vahl) Kosterm. ชื่อสกุลตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาชาวอิตาลี Filippo degli Albizzi ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. ใบประกอบยาวได้ถึง 12 ซม. ใบประกอบย่อย 1–3 คู่ ยาว 2–13 ซม. มีต่อมบนแกนใบประกอบและใบประกอบย่อย ใบย่อย 2–7 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ หรือแกมรูปขอบขนาน เบี้ยว ยาว 3.5–15 ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น แยกแขนง แต่ละช่อกระจุกมี 10–15 ดอก ดอกวงนอกขนาดเล็กกว่าวงใน ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีขนละเอียด หลอดกลีบเลี้ยงยาว 1.5–5 มม. หลอดกลีบดอกยาว 4.5–8 มม. กลีบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 1.5–4 มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง รังไข่เกลี้ยง มีก้านสั้น ๆ ฝักรูปแถบ แบน ยาว 10–30 ซม. แห้งแตก มีได้ถึง 10 เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลาง 8–9 มม.พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1200 เมตร
ชื่อพ้อง Inga lucidior Steud., Albizia lucida (Roxb.) Benth
ชื่อสามัญ Potka siris
ชื่ออื่น กระบุง (ชอง-จันทบุรี); โคน้ำ (ราชบุรี); จะแข, ซะแข (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ตังแข (ราชบุรี); ติแข (เลย); แถ (ภาคเหนือ); แทงแข (อุตรดิตถ์); นางแหง่ (กาญจนบุรี); ปันแข, ปันแถ (ภาคเหนือ); โปลตาสู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); พญารากขาว (อุตรดิตถ์); พฤกษ์ (กาญจนบุรี); สะแข (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ปันแถ: ใบประกอบ 2 ชั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น แยกแขนง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ฝักรูปแถบ แบน (ภาพ: สุคิด เรืองเรื่อ)
Nielsen, I.C. (1985). Leguminosae-Mimosoideae. In Flora of Thailand Vol. 4(2): 189–191.
Wu, D. and I.C. Nielsen. (2010). Fabaceae (Tribe Ingeae). In Flora of China Vol. 10: 62–63.