สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

ปอขนุน

ปอขนุน  สกุล
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Sterculia L.

Malvaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีขนกระจุกกระจาย หูใบร่วงเร็ว ใบเดี่ยว เรียบหรือแฉกเป็นพู หรือใบประกอบรูปฝ่ามือ เรียงเวียน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกมีเพศเดียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10–15 อัน ติดบนก้านชูเกสรร่วม หุ้มรังไข่ที่เป็นหมัน ในดอกเพศเมียเกสรเพศผู้เป็นหมันติดเป็นวงรอบ หุ้มรังไข่บนก้านชูเกสรร่วม มี 5 คาร์เพลแยกกัน ก้านเกสรเพศเมียแยกหรือเชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสร 5 อัน แยกกัน ผลแตกแนวเดียว มี 3–5 ผล เปลือกหนา แห้งแตก มีหนึ่งหรือหลายเมล็ด ไม่มีปีก สกุล Sterculia เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Sterculiaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Sterculioideae มีประมาณ 150 ชนิด พบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในไทยเป็นไม้พื้นเมือง 12 ชนิด และไม้ประดับ 1 ชนิด คือ เกาลัด S. monosperma Vent. ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “stercus” มูลสัตว์ หมายถึงใบและดอกบางชนิดมีกลิ่นเหม็น


ปอขนุน
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Sterculia parviflora Roxb. ex G.Don

Malvaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปใบหอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 10–22 ซม. แผ่นใบมีขนประปราย เส้นแขนงใบเรียงจรดกันใกล้ขอบใบ เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบยาว 2.5–10 ซม. ช่อดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 15 ซม. แยกแขนงสั้น ๆ ก้านดอกยาว 1–5 มม. หลอดกลีบเลี้ยงรูปคนโท ยาว 2–3 มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง ปลายเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณูไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน มี 1–5 ผลย่อย รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 7 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ผลแก่สีแดง มี 3–4 เมล็ด รูปรี ยาว 1.5–2 ซม. สีดำ

พบที่อินเดีย พม่า เวียดนาม คาบสมุทรมลายู บอร์เนียว ในไทยพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 350 เมตร

ปอขนุน: ช่อดอกตั้งขึ้น หลอดกลีบเลี้ยงรูปคนโท แฉกรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวเท่า ๆ หลอดกลีบเลี้ยง ปลายเชื่อมติดกัน มี 1–5 ผลย่อย มีขนสั้นนุ่ม แก่สีแดง มี 3–4 เมล็ด (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

ปอขนุน
วันที่ 29 ธันวาคม 2559

Sterculia balanghas L.

Malvaceae

ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5–20 ม. กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น หูใบคล้ายรยางค์ ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 10–30 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบเรียงจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว 1–3 ซม. ช่อดอกโค้งลง ยาว 10–20 ซม. ก้านดอกยาว 0.5–1.5 ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ยาว 0.7–1 ซม. แฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง ปลายเชื่อมติดกันด้วยขน เกสรเพศผู้ 10 อัน อับเรณูไร้ก้าน ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน มีขนหนาแน่น มี 2–5 ผลย่อย รูปขอบขนาน ยาว 5–9 ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลดำหนาแน่น มี 3–6 เมล็ด รูปรี ยาว 1–1.5 ซม. สีดำ

พบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค โดยเฉพาะบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ 1600 เมตร

ชื่อพ้อง  Sterculia angustifolia Roxb.

ชื่ออื่น   ขมิ้นแดง (ภูเก็ต); ช้าสามแก้ว, ปอขนุน (ประจวบคีรีขันธ์); ปอคำ (ภาคใต้); ปอแดงดง (ภาคเหนือ); ปอฟาน (ภาคใต้); พวงกำมะหยี่ (เลย); มักลิ้นอาง (เชียงใหม่, เลย); สำรองซัล (ชอง-จันทบุรี); สำโรง (จันทบุรี)

ปอขนุน: กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบเลี้ยงแฉกลึกเกินกึ่งหนึ่ง ปลายเชื่อมติดกันด้วยขน ผลย่อยรูปขอบขนาน เมล็ดรูปรี (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)



เอกสารอ้างอิง

Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 623–649.

Tang, Y., M.G. Gilbert and L.J. Dorr. (2007). Sterculiaceae. In Flora of China Vol. 12: 303.