Index to botanical names
จิงจ้อเหลือง
Convolvulaceae
ไม้เถาล้มลุก เกลี้ยงหรือมีขนยาวตามลำต้น แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ และช่อดอก ใบรูปฝ่ามือจักตื้น ๆ หรือแฉกลึก 3–7 แฉก กว้าง 4–15.5 ซม. ยาว 5–18 ซม. โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ หรือเกือบเรียบ ก้านใบยาว 1–4 ซม. ก้านช่อยาว 2–15 ซม. มีหนึ่งหรือหลายดอก ก้านดอกยาว 1–1.5 ซม. ปลายหนา ใบประดับรูปลิ่มแคบ กลีบเลี้ยงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 1.4–1.8 ซม. ขยายในผล มีต่อมโปร่งแสง กลีบคู่นอกด้านนอกมีขนหยาบยาว 3 กลีบด้านในเกลี้ยง ดอกรูปแตร สีเหลือง ด้านในบางครั้งมีสีแดงเข้ม ยาว 2.5–5.5 ซม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1 ซม. รังไข่เกลี้ยง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 ซม. เปลือกบาง เมล็ดรูปไข่มน ยาวประมาณ 7 มม.พบที่อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน พม่า ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งในป่าเสื่อมโทรม ชายป่า หรือข้างถนน ความสูง 100–1600 เมตร ทั้งต้นใช้รักษาอาการปัสสาวะอักเสบ
ชื่อพ้อง Convolvulus vitifolius Burm.f.
ชื่ออื่น จิงจ้อขน, จิ้งจ้อหลวง, จิงจ้อเหลือง, จิงจ้อใหญ่ (ภาคเหนือ); จี้จ้อ, จี้จ้อม, เถาจี้จ้อ (เลย)
จิงจ้อเหลือง: ใบรูปฝ่ามือ ลำต้นและกลีบเลี้ยงคู่นอกมีขนหยาบยาว ดอกรูปแตร สีเหลือง ก้านดอกปลายหนา (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)
ไม้ล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม้เถา ใบเดี่ยวหรือใบประกอบ เรียงเวียน เรียบหรือแฉกเป็นพู ช่อดอกส่วนมากแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ใบประดับขนาดเล็ก ส่วนมากร่วงเร็ว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเท่า ๆ กัน หรือกลีบคู่นอกขนาดเล็กกว่า ติดทนและมักขยายในผล ดอกรูปแตรหรือรูประฆัง ส่วนมากสีขาวหรือเหลือง ปลายแยก 5 แฉกตื้น ๆ หรือเกือบเรียบ กลางกลีบเป็นแถบริ้ว เกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย โคนแผ่กว้าง อับเรณูส่วนมากบิดเวียน เรณูไม่มีหนาม จานฐานดอกเป็นวง รังไข่ 4 ช่อง มีออวุล 4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรมี 2 พู ผลแห้งแตก มี 4 ส่วน ส่วนมากมี 4 เมล็ดสกุล Merremia มีประมาณ 100 ชนิด พบทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในไทยมีไม่น้อยกว่า 16 ชนิด ลักษณะทั่วไปคล้ายกับสกุล Ipomoea ซึ่งอับเรณูส่วนมากไม่บิดเวียน เรณูมีหนามละเอียด ชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน Blasius Merrem (1761–1824)
Fang, R. and G. Staples. (1995). Convolvulaceae. In Flora of China Vol. 16: 291, 295.
Staples, G. (2010). Convolvulaceae. In Flora of Thailand Vol. 10(3): 431–447.