Index to botanical names
จวงหอม
Lauraceae
ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกหนาแตกเป็นสะเก็ด มีขนละเอียดตามกิ่งอ่อน เกล็ดตา ช่อดอก ใบประดับ กลีบรวม ตายอดขนาดเล็ก เกล็ดหุ้มตาหนา ใบเรียงเวียน รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว 4–12 ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่มกว้าง แผ่นใบด้านล่างคล้ายมีนวล ก้านใบยาว 0.8–1.2 ซม. เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น มีเส้นตามขวางจำนวนมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกกลม ออกตามซอกใบ หรือเรียงบนแกนช่อแยกแขนงสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 10 ซม. ช่อกระจุกก้านช่อสั้นมาก มี 5–6 ดอก ใบประดับรูปเคียวขนาดเล็ก ก้านดอกยาวได้ถึง 5 มม. ขยายในผล เรียว ปลายหนา ยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกสีเขียวอมเหลืองขนาดเล็ก กลีบรวม 6 กลีบ เรียง 2 วง รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1.2 มม. หลอดกลีบสั้น ขยายหนาในผล กว้าง 6–8 มม. เกสรเพศผู้ 9 อัน เรียง 3 วง ยาวประมาณ 1 มม. ก้านชูอับเรณูมีขนยาว วงที่สามโคนมีต่อม 2 ต่อม อับเรณูมี 2 คู่ แต่ละวงเรียงหันเข้าและหันออกต่างกัน มีฝาเปิดด้านบน เกสรเพศผู้วงในสุดเป็นหมัน 3 อัน รังไข่มีช่องเดียว ออวุลมีเม็ดเดียว ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่ารังไข่ ยอดเกสรรูปจาน ผลผนังชั้นในแข็ง รูปรีแคบ ยาว 1.5–2 ซม. แก่สีแดงเปลี่ยนเป็นสีดำพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีน พม่า และเวียดนามตอนบน ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ลำปาง ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000–2550 เมตรสกุล Neocinnamomum H. Liu แยกมาจากสกุล Cinnamomum ตามลักษณะกลีบรวมขยายหนาในผล และช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น มี 7 ชนิด พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และสุมาตรา ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลหมายถึงสกุลใหม่ที่แยกมาจากสกุล Cinnamomum
ชื่อพ้อง Cinnamomum caudatum Nees
จวงหอม: เปลือกหนาแตกเป็นสะเก็ด เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น มีเส้นตามขวางจำนวนมาก ก้านดอกและกลีบรวมขยายในผล (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Li, X.W., J. Li and H. van der Werff. (2008). Lauraceae (Neocinnamomum). In Flora of China Vol. 7: 187.