Index to botanical names
ก่อแดง
Fagaceae
ไม้ต้น แยกเพศร่วมต้น แยกช่อบนกิ่งเดียวกัน กิ่งมักมีช่องอากาศ ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน หูใบ แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ช่อดอก และกลีบรวม หูใบขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน ส่วนมากขอบจักซี่ฟันหรือจักเป็นพู เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ช่อดอกเพศผู้แบบช่อหางกระรอกห้อยลง บางครั้งแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อเชิงลดออกเดี่ยว ๆ ใบประดับขนาดเล็ก ดอกเพศผู้ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก เรียงห่าง ๆ บนแกนช่อ กลีบรวม 4–7 กลีบ ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ 4–7 อัน ส่วนมากไม่มีรังไข่ที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ กลีบรวม 5–6 กลีบ รังไข่ใต้วงกลีบ ส่วนมากมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียส่วนมากมี 3 อัน ผลแบบเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มีกาบหุ้ม ใบประดับคล้ายเกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมเรียงเป็นชั้น ๆ ส่วนมากมีขนสั้นนุ่มสกุล Quercus มีประมาณ 600 ชนิด ส่วนมากพบในเขตอบอุ่นทางซีกโลกเหนือ ทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกาตอนบน ในไทยมีประมาณ 30 ชนิด ชื่อสกุลเป็นภาษาละตินโบราณที่ใช้เรียกพืชกลุ่มนี้
ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว 8–20 ซม. ขอบจักช่วงครึ่งบนของแผ่นใบ เส้นแขนงใบข้างละ 9–14 เส้น จรดขอบใบ ก้านใบยาว 1–4 ซม. ช่อดอกเพศผู้ยาว 10–15 ซม. ช่อดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก 3–10 ช่อ ตั้งตรง ยาว 1–3 ซม. ผลรูปไข่ ปลายบุ๋ม กว้าง 1.5–3.5 ซม. สูง 1.4–2.5 ซม. รวมกาบ มีขนคล้ายไหม กาบรูปกรวยกลับหุ้มเกินกึ่งหนึ่ง เกล็ดหนาเรียงสลับพบที่จีนตอนใต้ พม่า ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ความสูง 500–2100 เมตร เนื้อไม้นิยมใช้ทำถังหมักแอลกอฮอล์
ชื่ออื่น ก่อขี้หมู, ก่อหยวก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ก่อแงะ, ก่อดำ, ก่อแดง, ก่อตาหมู, ก่อตี่, ก่อแมงนูน, ก่อแอบ (ภาคเหนือ); ก่อถอก, ก่อหัววอก (เชียงใหม่)
ก่อแดง: กิ่งมีช่องอากาศ ผลรูปไข่ ปลายบุ๋ม กาบหุ้มผลเกินกึ่งหนึ่ง เกล็ดหนาเรียงสลับ (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)
Huang, C., Y. Zhang and B. Batholomew. (1999). Fagaceae. In Flora of China Vol. 4: 370, 379.
Phengklai, C. (2008). Fagaceae. In Flora of Thailand Vol. 9(3): 352–409.