สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

การเวก

การเวก  สกุล
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Artabotrys R.Br.

Annonaceae

ไม้เถา ใบเรียงสลับระนาบเดียว ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ๆ มี 1 หรือหลายดอก ส่วนมากออกตรงข้ามใบ ก้านดอกติดทน โค้งงอรูปตะขอ ฐานดอก (torus) แบนหรือเว้า กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เรียงจรดกัน เชื่อมติดกันที่โคน กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง ยาวเท่า ๆ กัน กลีบเรียงจรดกัน โคนเว้า เกสรเพศผู้จำนวนมาก แกนอับเรณูช่วงปลายกว้าง ตัด คาร์เพลจำนวนมาก มีออวุล 2 เม็ด ติดที่โคน เกสรเพศเมียรูปไข่หรือคล้ายกระบอง ผลย่อยคล้ายผลสดออกเป็นกระจุกแยกกัน ไร้ก้านหรือมีก้านสั้น ๆ แต่ละผลย่อยมี 1–2 เมล็ด

สกุล Artabotrys อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Annonoideae มีประมาณ 100 ชนิด พบในแอฟริกาและเอเชียเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน ในไทยอาจมีมากกว่า 20 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “artane” หรือ “artao” ตะขอ และ “botrys” เป็นกระจุก ตามลักษณะของก้านช่อดอกที่โค้งงอคล้ายตะขอ


การเวก
วันที่ 30 พฤษภาคม 2559

Artabotrys hexapetalus (L.f.) Bhandari

Annonaceae

ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 ม. ลำต้นมีช่องอากาศ มักมีหนามยาว 2–4 ซม. กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ใบเรียงเวียน รูปขอบขนาน ยาว 6–25 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียดตามเส้นกลางใบ ช่อดอกมี 1–2 ดอก ก้านช่อยาวเท่า ๆ ก้านดอกหรือสั้นกว่าเล็กน้อย ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 5–8 มม. พับงอกลับ ด้านนอกมีขนละเอียด กลีบดอกรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กลีบชั้นในขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ยาว 3–4.5 ซม. โคนกลีบด้านนอกมีขนละเอียด คอด เกสรเพศผู้วงด้านนอกส่วนมากเป็นหมัน รยางค์มี 3 สัน ผลย่อยมี 7–15 ผล รูปรีกว้าง ยาว 2.5–4 ซม. ก้านสั้นหรือไร้ก้าน ปลายมีติ่งแหลม เมล็ดยาว 1.5–2 ซม.

มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา เป็นไม้ประดับทำเป็นซุ้มทั่วไปในเขตร้อน ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำหอมและใส่ในใบชา ผลมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง ลักษณะทั่วไปคล้ายกับ A. siamensis Miq. ที่ดอกขนาดเล็กกว่าและมีขนหนาแน่นกว่า

ชื่อพ้อง  Annona hexapetala L.f.

ชื่อสามัญ  Climbing lang-lang, Ylang-ylang vine

ชื่ออื่น   กระดังงาจีน, การเวก (ภาคกลาง); สะบันงาเครือ, สะบันงาจีน (ภาคเหนือ)

การเวก: ลำต้นมีช่องอากาศ มีหนามยาว กลีบเลี้ยงพับงอกลับ กลีบดอก 6 กลีบ เรียง 2 วง ยาวเท่าๆ กัน ผลย่อยรูปรีเกือบกลม มีก้านผลสั้นๆ ปลายผลเป็นติ่งแหลม (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

ปิยะ เฉลิมกลิ่น. (2545). พรรณไม้วงกระดังงา. สำนักพิมพ์บ้านและสวน กรุงเทพฯ.

Li, B. and M.G. Gilbert. (2011). Annonaceae. In Flora of China Vol. 19: 701, 703.