สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กะฉอดแรด

กะฉอดแรด  สกุล
วันที่ 29 เมษายน 2559

Tectaria Cav.

Tectariaceae

เฟินขึ้นบนพื้นดิน เหง้าสั้น ตั้งขึ้นหรือทอดนอน มีเกล็ดบาง ๆ ใบมีแบบเดียวหรือสองแบบ ใบส่วนมากแบบใบประกอบจักแบบขนนก ขอบเรียบ แกนใบมีขนหลายเซลล์ เส้นใบย่อยแบบร่างแห อับสปอร์ส่วนมากรูปกลม ติดบนหรือระหว่างเส้นใบ มีเยื่อคลุมหรือไม่มี สปอร์รูปรีหรือรูปไข่ ผิวมีตุ่มหรือหนาม

สกุล Tectaria มีประมาณ 230 ชนิด พบทั่วไปในเขตร้อน ในไทยมีประมาณ 30 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษาละติน “tectum” คลุม และคำคุณศัพท์ “aria” ตามลักษณะการติดของอับสปอร์


กะฉอดแรด
วันที่ 29 เมษายน 2559

Tectaria rockii C.Chr.

Tectariaceae

เฟินขึ้นบนดิน เหง้าทอดนอน เกล็ดแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ รูปแถบ ยาวประมาณ 1.5 มม. ใบประกอบรูปสามเหลี่ยมกว้าง กว้างยาวประมาณ 50 ซม. ก้านใบยาวได้ถึง 80 ซม. มีขนประปราย โคนมีเกล็ด ใบประกอบย่อย 3–5 คู่ แกนกลางใบ แผ่นใบด้านล่าง และเส้นใบมีขนละเอียด ใบช่วงโคนแยกแขนง 2–3 ชั้น รูปสามเหลี่ยมเบี้ยว ยาวได้ถึง 50 ซม. ใบช่วงปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ใบย่อยที่โคนขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 20 ซม. ก้านสั้นหรือไร้ก้าน จักมน กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้นใบ กระจายห่าง เรียงข้างละแถวของเส้นกลางใบย่อย มีเยื่อคลุม กลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มม. มีขนละเอียดหรือเกือบเกลี้ยง

พบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบแทบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ความสูง 400–1200 เมตร

กะฉอดแรด: ใบประกอบย่อยช่วงโคนแยกแขนง 2–3 ชั้น กลุ่มอับสปอร์ติดที่ปลายเส้นใบ กระจายห่าง ข้างละแถวของเส้นกลางใบย่อย (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

กะฉอดแรด
วันที่ 29 เมษายน 2559

Tectaria griffithii (Baker) C.Chr.

Tectariaceae

เฟินขึ้นบนดิน เหง้าตั้งขึ้น เกล็ดสีน้ำตาลเข้ม รูปแถบ ยาวได้ถึง 2 ซม. ใบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน กว้างได้ถึง 40 ซม. ยาวได้ถึง 70 ซม. ก้านใบเปราะ ยาวเท่า ๆ แผ่นใบ มีเกล็ดหนาแน่นช่วงโคน ใบช่วงโคนรูปสามเหลี่ยม เบี้ยว ยาวได้ถึง 30 ซม. มีก้านยาว ปลายยาวคล้ายหาง ใบประกอบย่อยมี 1–2 ใบ ใบที่โคนขนาดใหญ่ แฉกลึกจรดโคน รูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 20 ซม. ปลายเรียวแหลม บางครั้งมีก้านสั้น ๆ ใบปลาย โคนสอบเรียวเป็นครีบ ขอบจักเป็นพูลึก แกนใบและเส้นกลางใบด้านบนมีขนหยาบ เส้นใบเป็นช่องร่างแหชัดเจน กลุ่มอับสปอร์ติดตามปลายเส้นแขนงใบย่อย เรียงข้างละ 1–2 แถว มีเยื่อคลุม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม.

พบที่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 600 เมตร

ชื่อพ้อง  Nephrodium griffithii Baker

กะฉอดแรด: ใบประกอบย่อย 1–2 ใบ ที่โคนขนาดใหญ่ แฉกลึกจรดโคน กลุ่มอับสปอร์ติดตามปลายเส้นแขนงใบย่อย เรียงข้างละ 1–2 แถว (ภาพ: ธรรมรัตน์ พุทธไทย)

กะฉอดแรดใบขน
วันที่ 29 เมษายน 2559

Tectaria zeilanica (Houtt.) Sledge

Tectariaceae

เฟินขึ้นบนดิน ทอดนอนสั้น ๆ เกล็ดรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มม. ขอบจัก ใบมีสองแบบ ใบไม่สร้างสปอร์ออกเป็นกระจุก จักแบบขนนกหรือมีใบประกอบย่อย 3 ใบ รูปรี ยาวได้ถึง 10 ซม. ก้านใบยาว 4–8 ซม. โคนมีเกล็ดหนาแน่น แผ่นใบด้านล่าง ขอบใบ และก้านใบมีขนหนาแน่น ใบที่โคนรูปขอบขนานหรือรูปรีกว้างเบี้ยว ยาวได้ถึง 3 ซม. ปลายมนกลม โคนเว้าตื้นหรือเป็นติ่งกลม ยาวได้ถึง 7 มม. ใบช่วงปลายรูปขอบขนาน ยาวได้ถึง 7 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มกว้าง ขอบจักมนหรือจักเป็นพูตื้น ๆ รูปกลมแกมสามเหลี่ยม ใบสร้างสปอร์ตั้งตรง ก้านยาวได้ถึง 25 ซม. มีเกล็ดประปราย มีใบย่อย 3 ใบ ยาวได้ถึง 5 ซม. ใบข้างเรียวแคบ สั้น โคนมักเป็นติ่ง ใบปลายรูปแถบ กว้างประมาณ 2.5 มม. ขอบมีขนประปราย กลุ่มอับสปอร์เรียงทั่วทั้งแผ่นใบด้านล่าง ยกเว้นขอบใบ

พบที่อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ไห่หนาน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะแปซิฟิก ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร

ชื่อพ้อง  Ophioglossum zeilanicum Houtt., Quercifilix zeilanica (Houtt.) Copel.

กะฉอดแรดใบขน: มีใบสองแบบ ใบไม่สร้างสปอร์จักเป็นพูแบบขนนกหรือมีใบประกอบย่อย 3 ใบ ใบสร้างสปอร์ใบตั้งตรง มีใบย่อย 3 ใบ รูปแถบ กลุ่มอับสปอร์เรียงทั่วทั้งแผ่นใบด้านล่าง ยกเว้นขอบใบ (ภาพ: ปรีชา การะเกตุ)



เอกสารอ้างอิง

Lindsay, S. and D.J. Middleton. (2012 onwards). Ferns of Thailand, Laos and Cambodia. http://rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns/

Tagawa, M. and K. Iwatsuki. (1988). Dryopteridaceae. In Flora of Thailand Vol. 3(3): 364–384.

Xing, F., Y. Yuehong and M.J.M. Christenhusz. (2013). Tectariaceae (Tectaria). In Flora of China Vol. 2–3: 733.