สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
(Concise Encyclopedia of Plants in Thailand)


หมวดตัวอักษร 


Index to botanical names


ค้นหาคำศัพท์
ค้นหาคำศัพท์   

กฤษณา

กฤษณา  สกุล
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Aquilaria Lam.

Thymelaeaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น เปลือกในบางมีเส้นใยเหนียว ใบเรียงเวียน ช่อดอกส่วนมากแบบช่อซี่ร่ม ออกสั้น ๆ ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านดอกเป็นข้อ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันที่โคน มี 5 กลีบ ติดทน กลีบดอก 10 กลีบ เป็นแผ่นเกล็ดคล้ายรยางค์ แยกหรือเชื่อมติดกันที่โคนเป็นวงที่ปากหลอดกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดระหว่างกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นหรือไร้ก้าน อับเรณูรูปแถบ ติดด้านหลัง รังไข่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแห้งแตกเป็น 2 ซีก เปลือกหนา มี 1–2 เมล็ด ติดบนกระจุกขั้ว

สกุล Aquilaria มีประมาณ 15 ชนิด พบในเอเชียเขตร้อน ในไทยมี 5 ชนิด อีก 3 ชนิด ได้แก่ จะแน A. hirta Ridl. พบทางภาคใต้ตอนล่าง A. rugosa K.Le-Cong & Kessler พบตามที่สูงทางภาคเหนือ และกำแย A. subintegra Ding Hou พบทางภาคใต้ แทบทุกชนิดเนื้อไม้ทนปลวก มีกลิ่นหอมเมื่อมีเชื้อรา Cystosphaera mangiferae Died. ทำให้เกิดสีดำ เรียกว่า กฤษณา นำมาเผาไฟอบห้องให้กลิ่นหอมหรือกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย ผงกฤษณาใช้ผสมยาสมุนไพร กฤษณาทุกชนิดรวมถึงกฤษณาน้อย (Gyrinops spp.) อยู่ในบัญชีที่ 2 ของ CITES ชื่อสกุลในภาษาละตินหมายถึงนกอินทรี เป็นที่มาของชื่อสามัญ eaglewood


กฤษณา
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Aquilaria malaccensis Lam.

Thymelaeaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านช่อดอก และก้านดอก ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5–15 ซม. แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 3–6 มม. ก้านช่อดอกยาว 0.4–2 ซม. มี 8–10 ดอก ก้านดอกยาว 2–5 ซม. กลีบเลี้ยงมีขนประปราย หลอดกลีบเลี้ยงยาว 3–5 มม. กลีบรูปรี ยาว 2–3 มม. ขยายในผลเพียงเล็กน้อย กลีบดอกเป็นแผ่นคล้ายเกล็ด ยาว 1–1.5 มม. มีขนยาว รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรี ยาว 2.5–4 ซม. มีขนประปราย เมล็ดรูปไข่ ยาวประมาณ 1 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม จะงอยยาวประมาณ 4 มม. รยางค์บิดเวียน

พบที่อินเดีย พม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทยที่ตรัง ยะลา และนราธิวาส ขึ้นตามป่าดิบชื้น ความสูงระดับต่ำ ๆ

ชื่อสามัญ  Agarwood, Aloewood, Calambac, Lignum aloes

ชื่ออื่น   กฤษณา (ภาคตะวันออก, ภาคใต้); กายูกาฮู (มาเลย์-ปัตตานี); พวมพร้าว (พัทลุง); ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้)

กฤษณา: กลีบเลี้ยงขยายในผลเพียงเล็กน้อย (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา)

กฤษณา
วันที่ 31 มีนาคม 2559

Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte

Thymelaeaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม. มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน ก้านใบ ก้านช่อดอก และก้านดอก ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 6–12 ซม. แผ่นใบมีขนประปรายตามขอบใบและเส้นกลางใบ ก้านใบยาว 3–7 มม. ก้านช่อดอกยาว 3–5 มม. มี 4–6 ดอกในแต่ละช่อ ก้านดอกยาว 0.5–1 ซม. กลีบเลี้ยงมีขนประปราย รูปรี ยาว 3–4 มม. ขยายในผล กลีบดอกยาว 1–1.5 มม. มีขนยาวหนาแน่น รังไข่มีขนประปราย ผลรูปรีเกือบกลม ยาว 2.5–3.5 ซม. มีขนประปราย เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ 1 ซม.

พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยส่วนมากพบที่เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 1000 เมตร

ชื่อสามัญ  Egle wood

ชื่ออื่น   กฤษณา (ภาคตะวันออก); ไม้หอม (ภาคใต้)

กฤษณา: กลีบเลี้ยงขยายในผล (ภาพ: สุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล)



เอกสารอ้างอิง

Peterson, B. (1997). Thymelaeaceae. In Flora of Thailand Vol. 6(3): 226–232.

Wang, Y., L.I. Nevling and M.G. Gilbert. (2007). Thymelaeaceae. In Flora of China Vol. 13: 214.