คณะกรรมการบริหาร
     โครงการฯภาคเหนือ
     โครงการฯภาคกลาง
     โครงการฯภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     โครงการฯภาคใต้
Username
Password
 


UserName

Password

   
 
 



สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม ( บ้านลีซอหัวน้ำเก่า )

กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

 
:: ความเป็นมา ::
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสร็จเยี่ยมราษฎร บ้านห้วยเมืองงาม และบ้านห้วยส้าน ( บ้านเลาต๋า ) บริเวณบ้านลีซอหัวน้ำเก่า ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร และสภาพการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร เรื่องทำไร่เลื่อนลอยของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน สภาพป่าต้นน้ำคงโดนทำลาย หมดไปในที่สุดและสภาพความมั่นคงตามแนวชายแดนคงแก้ไขยากตามไปด้วยจึงได้ทรงมีพระราชดำริกับแม่ทัพภาคที่ 3 , ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเรื่องหาแนวทาง การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ให้ราษฎรหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า และเป็นยามบริเวณชายแดนเพื่อความมั่นคง โดยให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
 
:: สภาพปัญหาก่อนดำเนินงาน ::
1. ปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำไร่หมุนเวียน มีการเพาะปลูกแบบไร้หลักวิชาการ ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย บุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้นทุกปี มีการพังทลายของหน้าดินในฤดูฝนมากขึ้นๆ
2. ปัญหาเรื่องไฟป่า จะมีการจุดไฟเผาป่าโดยชาวไร่เองทุกปี เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป ทำให้ป่าธรรมชาติที่มีอยู่บริเวณนี้เสียหายทุกปี
3. ปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของยาเสพติด อย่างรุนแรงเป็นพื้นที่ซึ่งต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมของราษฎรในพื้นที่เป็นพิเศษ เนื่องจากอยู่ติดแนวชายแดน ง่ายต่อการลำเลียงยาเสพติดเข้ามาพักใน หมู่บ้าน
4. ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของคนวัยทำงาน เพราะการทำไร่ของราษฎรในพื้นที่เดิมไม่พอกิน เมื่อพ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวราษฎรวัยแรงงานจะย้ายเข้าไปทำงานในเมือง ส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมในทุกปี
5.ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต เกิดจากความยากจนและไม่รู้ของราษฎร ต่อระบบการจัดการสุขอนามัยของตัวเอง ทำให้แต่ละครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี เกิดการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง โรคเอดส์ ( เกิดจากผู้หญิงไปขายบริการในเมือง )
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมพัฒนาชุมชน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ – ประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร. ) ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการขอใช้พื้นที่ป่าบริเวณต้นน้ำบ้านลีซอหัวน้ำเก่า ประมาณ 450 ไร่ ซึ่งบางส่วนเป็นการยินยอมยกพื้นที่ให้โดยไม่หวังสิ่ง ตอบแทนด้วยความเต็มใจจากราษฎรที่เคยทำกินอยู่เดิม มาจัดตั้งเป็นสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง โดยให้ราษฎรจาก 2 หมู่บ้านที่อยู่โดยรอบพื้นที่บ้านลีซอหัวน้ำ คือ

บ้านห้วยส้านหมู่ที่ 10 ประกอบด้วยกลุ่มบ้านเล็กๆ 4 กลุ่มบ้านแยกเป็นบ้านบะหลา บ้านห้าหก บ้านห้วยเต่า และบ้านลีซอหัวน้ำเดิมที่ยอมอพยพลงมาตามเงื่อนไขของกรมปกครอง มาเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีประชาชนทั้งหมดแยกได้ดังนี้ คือ
1. บ้านบะหลา จำนวน 42 หลังคาเรือน
2. บ้านห้วยเต่า จำนวน 22 หลังคาเรือน
3. บ้านลีซอหัวน้ำ จำนวน 24 หลังคาเรือน
4. บ้านห้าหก จำนวน 18 หลังคาเรือน
ประชากรส่วนใหญ่ใน 4 กลุ่มบ้านนี้เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ เผ่าอีก้อ และเผ่ามูเซอ แยกเป็นชาย 700 คน หญิง 820 คน รวมทั้งหมด 1,520 คน
และหมู่บ้านหัวเมืองงาม ( หมู่ 11 ) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบ้านเล็กๆ 2 กลุ่มบ้าน ที่เข้าร่วมโครงการ คือ

1. บ้านอาซู
2. บ้านอาเทอ
 
:: พระราชดำริ ::
ทรงมีพระราชดำริที่สำคัญดังนี้
1. โปรดเกล้าให้ตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม
2. ให้ฟื้นฟูสภาพป่าที่โดนทำลาย โดยการปลูกป่าและให้ผู้แทนของ 4 หมู่บ้านที่อยู่รอบพื้นที่ตั้งสถานีเข้าเฝ้า
 

:: วัตถุประสงค์ ::

1. จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่อย่างจำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอเลี้ยงตนเองได้
2. ยับยั้งการบุกรุกทำลายป่า ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝางซึ่งมี ห้วยเมืองงามเป็นลำห้วยหลักที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนบริเวณนี้มาช้านาน ไหลลงสู่แม่น้ำกก ให้พื้นที่ต้นน้ำที่โดนบุกรุกบริเวณนี้กลับคืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม
3. สร้างงานให้ราษฎรในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น
4. สร้างชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อต่อต้านปัญหายาเสพติดและสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่จะลำเลียงมาจากชายแดนพม่าซึ่งทีอาณาเขตห่างจากที่ตั้งสถานีแค่ 1.5 กิโลเมตร ผ่านไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และเข้าไปแพร่กระจายในเมืองใหญ่ในที่สุด
5. พัฒนาสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ให้เป็นแหล่งทองเที่ยวทางวัฒนธรรม และระบบนิเวศน์

 
:: เป้าหมาย ::
1. จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยขอใช้พื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางประมาณ 450 ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ
2. จัดสร้างฝายทดน้ำแบบประปาภูเขา และทำบ่อพักน้ำ เพื่อนำน้ำมาใช้ทำการเกษตรในพื้นที่โครงการฯ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
3. ทำการฝึกอบรมราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า บ้านห้วยเต่า บ้านห้าหก บ้านบะหลา บ้านลีซอหัวน้ำ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ปีละ 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน โดยทำเป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี เพื่อให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า บริเวณต้นน้ำห้วยเมืองงาม ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง
4. ทำการปลูกป่าเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยใช้พื้นที่เหลือจากการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม
5. จัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ราษฎรรวมกลุ่มในการบริหารจัดการ วางแผนการผลิตและการตลาด การแปรรูปผลผลิตให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นและเกิดการรวมกลุ่มกันจำหน่ายผลผลิตเพื่อไม่ให้ถูกกดราคา จากพ่อค้าคนกลางอย่างไม่เป็นธรรม
6. ทำการจ้างงานในชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของราษฎรให้ดีขึ้น โดยตั้งเป้าหมายของการพัฒนาปีแรก ให้ราษฎรทุกครัวเรือนในพื้นที่มีรายได้สูงกว่าระดับความยากจนที่ทางการกำหนดไว้
7. ส่งเสริมให้ราษฎรมีทักษะ เกิดการเรียนรู้ในด้านการผลิตอย่างถูกวิธี สามารถมีพัฒนาการ นำไปสู่การมีกินมีอยู่อย่างพอเพียงได้
 
:: พื้นที่ดำเนินการ ::

อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝางบริเวณต้นน้ำห้วยเมืองงาม ( บ้านลีซอหัวน้ำเก่า ) ท้องที่ตำบลท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ จุดที่ตั้งสถานี พิกัด 47Q NC 545243 แผนที่ แผนที่ระวาง 4949III ความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 700 – 1,522 เมตร คลอบคุมพื้นที่ 7,000 ไร่ มีดอยสามเส้าเป็นจุดสูงที่สุด 1,522 เมตร แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ ลุ่มน้ำห้วยน้ำงามและลุ่มน้ำห้วยส้าน ไหลลงสู่แม่น้ำกก (ภาพแผนที่โครงการ)

 
:: ข้อมูลทางกายภาพ ::
ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะทั่วไปเป็นเนินเขาสูงชัน สลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบน้อยส่วนมากจะพบบริเวณริมห้วย มีสันดอยที่สำคัญ คือ ดอยสามเส้า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 - 1,522 เมตร มีความลาดเอียงจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ มีความลาดชันมากกว่า 35 % มีแหล่งน้ำสำคัญ คือ ลำน้ำห้วยเมืองงามและลำห้วยส้าน ไหลลงสู่แม่น้ำกกตลอดทั้งปี
ลุ่มน้ำห้วยเมืองงาม เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำแม่กก ตั้งอยู่ตอนบนของจังหวัดเชียงใหม่ ท้องที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย อีกทั้งยังเป็นเขตชายแดนติดต่อกับเมืองยอน ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของ กองกำลังว้าแดง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ จด สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า
ทิศตะวันออก จด ดอยสามเส้าใหญ่
ทิศใต้ จด บ้านสุขฤทัย
ทิศตะวันตก จด จังหวัดเชียงราย

 
:: แหล่งน้ำ ::
ในพื้นที่มีลำห้วยเมืองงามไหลผ่าน ซึ่งสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก

 
:: เส้นทางคมนาคม ::
ใช้เส้นทางเชียงใหม่ – แม่จัน โดยใช้เส้นทางหมายเลข 107 ( เชียงใหม่ – ฝาง ) และต่อด้วย เส้นทางหมายเลข 1098 จากอำเภอฝาง – อำเภอแม่จัน ผ่านตำบลท่าตอน กิโลเมตรที่ 40 ให้เลี้ยวซ้าย เข้าถึงสถานีฯ 6 กิโลเมตร รวมระยะทาง 215 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ – สถานีฯ ประมาณ 4 ชั่วโมง

 
:: ลักษณะทางธรณีทางวิทยา ::
พื้นที่ทั้งหมด มีหินวัตถุต้นกำเนิดมาจากหินแกรนิต ( Granite ) มีอายุของหินอยู่ในช่วงยุค Triassic ของมหายุค Mesozoic Era มีการผุพังสลายตัว ทำให้ดินมีลักษณะต่างกันตามคุณสมบัติของวัตถุต้นกำเนิดดินและขบวนการเกิดดิน
ลักษณะทางปฐพีวิทยา
จากรายงานผลการสำรวจดิน ( กรมพัฒนาที่ดิน 2536 ) ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลปนแดง อยู่บนดินร่วนเหนียวสีน้ำตาลปนแดงหรือสีแดง มีความลึกของดินปานกลาง ถึงลึกมาก การระบายน้ำของดินดีปานกลางถึงดีมาก ปฏิกิริยาของดินบนและดินล่างมีความเป็นกรดเล็กน้อยถึงกรดจัดมีค่า Ph ประมาณ 6.5-5.0 มีการพัฒนาของการเกิดดินดี สามารถจำแนกตามระบบอนุกรมวิธานดินได้กลุ่มดินดังนี้
Clayey – Haplhumuits : Clayey – Kandiustullts และ Clayey Paleustults ส่วนดินตื้นจะอยู่ในกลุ่มดิน Clayey - Skeletal Kandiustults
 
:: ลักษณะทางพืชพรรณ ::
พันธุ์ดั้งเดิม ได้แก่ ไม้ก่อ ทะโล้ แคหางค่าง แอปเปิ้ลป่า หว้า สนเขา จำปีป่า ตุ้มแต๋น ประดู่ ส้ม งิ้ว กำลังเสือโคร่ง ตะไคร้ต้น ปอ มะกอกเลี่ยม ยมหิน ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ชนิดต่างๆ และหญ้ากกและหญ้าดอกเลา

 
:: สภาพภูมิอากาศ ::
บริเวณพื้นที่สถานีเป็นภูเขาสูงชัน มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่หอบเอาความหนาวเย็นจากประเทศจีน เข้าสู่ภาคเหนือของไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่หอบเอาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้ช่วงเดือนปลายตุลาคม – มกราคม ของทุกปี มีอากาศหนาวเย็น
จากข้อมูลสถานีตรวจอากาศของโครงการหลวงหมอกจ๋ามซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน พบว่า ตำบลท่าตอนเฉลี่ยต่ำสุด เท่ากับ 10 องศาเซลเซียส ( ในช่วงเดือนธันวาคม ) และอุณหภูมิตลอดทั้งปีเท่ากับ 23 .3 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,483 ม.ม / ปี ( โดยจะเริ่มตั้งเดือนเดือนพฤษภาคม – เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี )
 
:: สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ::

ลักษณะทางสังคม

ชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้านเป็นชาวเขาเผ่าลีซอ อาข่า มูเซอดำ ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกระจัดกระจายรอบลุ่มน้ำห้วยเมืองงามและลุ่มน้ำห้วยส้าน นับถือผีและศาสนาคริสต์ การปลูกสร้างที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะใช้วัสดุในท้องถิ่น มีหมู่บ้านทางการ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านห้วยส้าน ( หมู่ 10 ) หรือบ้านเลาต๋า มีบ้านบริวารคือ บ้านบะหลา บ้านห้วยเต่า บ้านห้าหก บ้านลีซอหัวน้ำเก่า และหมู่บ้านหัวเมืองงาม ( หมู่ 11 ) มีบ้านบริวาร คือ บ้านอาซู และบ้านอาเทอ
ประชากรส่วนใหญ่ขาดความรู้และด้อยการศึกษา ฐานะยากจน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อความอยู่รอดและรับจ้างทำงานทั่วไป และบางส่วนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย การอพยพเคลื่อนย้ายประชากรยังคงมีอยู่ เพราะพื้นที่สถานีฯ อยู่ติดกับแนวเขตชายแดนประเทศพม่า ปัญหาสำคัญคือการลำเลียงยาเสพติด ขบวนการค้ายาเสพติดที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ร่วมกับชุมชน

 
:: แผนการดำเนินงาน ::
ขั้นตอนการดำเนินงานของสถานีพัฒนาเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม สามารถแยกตามกิจกรรมงานต่างๆได้ ดังนี้

1. กิจกรรมด้านอำนวยการและบริหาร
1.1 งานจัดเตรียมพื้นที่โครงการฯ
1.2 งานโครงสร้างพื้นฐาน
- สำนักงาน จำนวน 1 หลัง
- บ้านพักเจ้าหน้าที่เกษตรและป่าไม้ จำนวน 3 หลัง
- บ้านพักกำลังพล จำนวน 2 หลัง
- จัดระบบน้ำในสถานที่ จำนวน 1 ชุด
- โรงเพาะชำ จำนวน 2 หลัง
- โรงเรือนเลี้ยงแกะ จำนวน 1 หลัง
- ห้องน้ำ จำนวน 6 แห่ง
- ถนนป่าไม้ จำนวน 6 กิโลเมตร
- จัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 6 รายการ

2. กิจกรรมด้านการเกษตร
2.1 งานพัฒนาศักยภาพการผลิต ( กรมวิชาการเกษตร )
2.2 งานการผลิตพืช ( กรมวิชาการเกษตร , กรมส่งเสริมการเกษตร )
2.3 งานการตลาด ( กรมส่งเสริมการเกษตร )

3. กิจกรรมด้านการพัฒนาที่ดิน
3.1 งานก่อสร้างคันคูรับน้ำขอบเขา (ชนิดที่ 5) จำนวน 20 กิโลเมตร
3.2 ปลูกหญ้าแฝก จำนวน 20,000 กล้า
3.3 สำรวจทำแผนที่วงรอบ จำนวน 450 ไร่
3.4 สำรวจดินและวางแผนการใช้ดิน จำนวน 450 ไร่

4. กิจกรรมด้านประมง
4.1 งานผลิตพันธุ์ปลาลำธารภูเขา จำนวน 80,000 ตัว
4.2 งานผลิตพันธุ์กบลำธารภูเขา จำนวน 10,000 ตัว

5. กิจกรรมด้านสำรวจ จำแนกและกำหนดการใช้ที่ดิน
5.1 สำรวจ จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดำเนินการ 7,000 ไร่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- พื้นที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง เนื้อที่ 450 ไร่
- พื้นที่ทำกินและอยู่อาศัย หมู่บ้าน 900 ไร่
- พื้นที่ป่า เพื่ออำนวยประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 5,650 ไร่

6. กิจกรรมด้านปศุสัตว์
6.1 งานจัดทำทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะ จำนวน 30 ไร่
6.2 งานอบรมเกษตรกร จำนวน 3 หมู่บ้าน
6.3 งานจัดซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็ด จำนวน 410 ตัว

7. กิจกรรมด้านประสานการคุ้มครองและป้องกันชุมชน
7.1 งานประสานการคุ้มครอง และป้องกันชุมชน
7.2 งานด้านการข่าว
7.3 งานด้านปลูกไผ่ จำนวน 100 ไร่
7.4 งานงานด้านกิจการพลเรือน

8. กิจกรรมด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้
8.1 งานก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 150 แห่ง
8.2 งานก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร จำนวน 4 แห่ง
8.3 ปลูกป่าไม้ใช้สอย จำนวน 100 ไร่
8.4 ปลูกป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง จำนวน 100 ไร่

9. กิจกรรมด้านการศึกษาศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษำรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดเชียงราย
9.1 ดำเนินงานและประสานงานกับหน่วยงานพื้นที่ ในการจัดตั้งศูนย์การเรียน 4 หมู่บ้าน
9.2 งานด้านวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น
9.3 กำลังดำเนินการรับสมัครเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โครงการ เพื่อการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่
 
:: สรุปความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ::
กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2547
1. ด้านอำนวยการ และบริหาร

( หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่กก )
1.1 ก่อสร้างถนนเข้าไปในสถานีฯ 6 กิโลเมตร

1.2 จัดทำระบบประปาภูเขาใช้ในสถานีฯลง

1.3 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว ประกอบด้วย
- สำนักงาน 1 หลัง
- ห้องประชุม 1 หลัง
- บ้านพักเจ้าหน้าที่ 8 หลัง
- โรงครัว 1 หลัง
- ห้องน้ำ 2 หลัง

1.4 ก่อสร้างบ่อเก็บน้ำกระเบื้องโค้ง จำนวน 10 บ่อ

2. ด้านการเกษตร
( ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เขต 1 ส่วนแยกสถานีทดลองพืชสวนฝาง )
2.1 สร้างโรงเรือนเพาะชำชั่วคราว 1 หลัง

2.2 จัดเตรียมกล้าพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวและพืชอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
- เบบี้แครอท 1 ไร่
- บล็อคโคลี่ 2 ไร่
- อาโวคาโด 200 ต้น
- กาแฟ 10,000 ต้น ( เตรียมหลุมเสร็จแล้ว )
- ชา 5,000 ต้น ( เตรียมหลุมปลูก )
- สลัดแก้ว 1.5 ไร่
- Cooking apple 4 ไร่
- ศุภโชค 5 ไร่
- สตรอเบอรี่ 1 ไร่ ( 8,000 ต้น )

3. ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
( หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่กก )
3.1 ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 40 แห่ง (บริเวณบ้านห้วยเมืองงามในสถานีฯ)

3.2 เตรียมพื้นที่ปลูกป่าใช้สอยและป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เนื้อที่ 200 ไร่
( เตรียมกล้าไม้ , เตรียมถางจุดทำแนวปลูก , ดายวัชพืช )

4. ด้านการประสานการคุ้มครองและป้องกันชุมชน
( ป.พัน 7 )
4.1 ระบบป้องกัน
- จัดกองกำลังพลลาดตระเวน และเฝ้าตรวจพื้นที่โครงการ

4.2 ด้านการข่าว
- จัดกำลังพลออกพบปะและประสานงานกับผู้นำชุมชน

4.3 การปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์
- จัดกำลังพลและจ้างแรงงานราษฎรเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกไผ่ซางนวล จำนวน 100 ไร่ และดำเนินการปลูกแล้ว 800 ต้น ประมาณ 40 ไร่
- ประสานงานกับหน่วยงานร่วมปฏิบัติในพื้นที่

5. กิจกรรมพัฒนาที่ดิน
( สถานพัฒนาที่ดิน จังหวัดเชียงใหม่ )
1. เปิดพื้นที่ ทำดินคูรับน้ำขอบเขา 100 ไร่
2. ทำขั้นบันได 10 กิโลเมตร
3. ทำแผนที่ขอบเขตแนวระดับของพื้นที่สถานีฯ
4. ปลูกแฝกป้องกันการพังทะลายของดิน

6. กิจกรรมด้านประมง
( ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ )
- ปล่อยพันธุ์ปลาในลำห้วย บริเวณสถานีฯ 5,000 ตัว

7. ด้านปศุสัตว์

( สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่ )
เตรียมดำเนินการ
- แกะพันธุ์ขน จำนวน 20 ตัว
- เมล็ดพันธุ์หญ้าสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะ 30 ไร่
- พันธุ์เป็ดเทศ 300 ตัว

8. ด้านการศึกษา

( ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน จังหวัดเชียงราย )
- ดำเนินงานและประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียน
จำนวน 1แห่ง
- สอนผู้ไม่รู้หนังสือมีสมาชิก 32 คน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้
- สอนเจ้าหน้าที่ในสถานีฯ เพื่อให้มีการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการติดต่อ
สื่อสารกับประชาชนในพื้นที่
- งานด้านวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เตรียมจัดการเรียนการสอนตอกลายโลหะ
อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อม

9. สำรวจ จำแนก กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

มีการประชุม ประชาสัมพันธ์เบื้องต้น เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ลดการบุกรุก ทำลายป่า เดือนละ 1 ครั้ง

จัดทำโดย : หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่กก
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ( เชียงใหม่ )

วัน / เดือน / ปี : 15 กรกฎาคม 2547

โทรศัพท์ / โทรสาร : 053214577 / 053214587

 

Back to top


©สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๔๗ - ส่วนโครงการพระราชดำริและความมั่นคง ( กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช )