วนอุทยานสันผาพญาไพร


 

 

            พื้นที่สันผาพญาไพรอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำแม่คำ ป่าน้ำแม่สลอง และป่าน้ำแม่จันฝั่งซ้าย เป็นป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อความมั่นคงแม่ฟ้าหลวง - แม่จัน (พื้นที่ข้างเคียงโครงการพัฒนาดอยตุง) และยังเป็นป่าที่ถูกำหนดให้อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน C) พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของบ้านพญาไพร 3 หมู่บ้านคือ พญาไพรลิทู่ + เล่ามา และพญาไพรเล่าจอ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จุดที่ตั้งของพื้นที่ทางทหาร คือ NC 633467 อยู่ในแผนที่ระวาง 4949 IV พิกัดละติจูดที่ 447 เนื้อที่ป่าสำรวจและควรจัดตั้งเป็นวนอุทยานประมาณ 3,500 ไร่ กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540

            ป่าสงวนแห่งชาติในปัจจุบันได้ถูกบุกรุกเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นจำนวนมากทำให้เนื้อที่ป่าลดลงและเกิดภัยธรรมชาติทั้งการพังทลายของดิน น้ำท่วม และน้ำในแม่น้ำแห้งขอดฤดูแล้ง แต่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำแม่คำ ป่าน้ำแม่สลอง และป่าน้ำแม่จันฝั่งซ้าย ท้องที่อำเภอแม่-ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บริเวณดอยป่าไม้เกี้ยะ (ไม้สน) ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลรวมถึงการใช้ประโยชน์ของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า และมูเซอดำ จำนวน 3 หมู่บ้าน ทั้งยังได้ร่วมกันรักษาป่าบริเวณดังกล่าวรวมเนื้อที่ประมาณ 3,000 กว่าไร่ ทำให้สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ มีน้ำตกเล็ก ๆ แต่น้ำไหลตลอดปี พร้อมกันนั้นยังมีทางเดินตามเส้นเขาบนดอยป่าไม้เกี้ยะร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด จุดสูงสุดของภูเขาจะมีไม้เกี้ยะ (ไม้สน) ขึ้นอยู่เมื่อมองลงไปข้างล่างทางทิศด้านใต้จะเป็นเหวลึกประมาณ 400 เมตร ถือได้ว่าเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก มองไปทางด้านทิศตะวันออกจะเป็นที่ตั้งของพระตำหนักดอยตุง มองไปทางทิศตะวันตกจะเป็นทิวเขาของบ้านหัวแม่คำ หากมองไปทางทิศใต้จะเป็นบ้านแสนเมืองโก มองไปทางทิศเหนือจะเป็นบ้านแม่หม้อ และประเทศสหภาพพม่า และทางทิศใต้จะเป็นหมู่บ้านแม่สลอง สภาพดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมและพักค้างบ้าง ยังไม่เป็นที่รู้จักเพราะยังไม่ได้พัฒนาอีกทั้งยังไม่สะดวกและปลอดภัยเท่าที่ควร สำนักงานป่าไม้เขตเชียงรายได้-ตระหนักถึงความสำคัญที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้รวมถึงสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจเพื่อจะจัดตั้งเป็นวนอุทยาน

อาณาเขต

                    ทิศเหนือ     จดประเทศสหภาพพม่า

                    ทิศตะวันตก     จดบ้านปางมะหัน

                    ทิศตะวันออก     จดบ้านแม่หม้อ (แม่เมาะ)

                    ทิศใต้             จดจะทอ (แสนเมืองโก)

ลักษณะภูมิประเทศ

           เป็นเทือกเขาสูงสลับกันเป็นทอด ๆ มีเทือกเขาที่สูงคือ ดอยป่าไม้เกี้ยะ (ไม้สน) มีต้นไม้หลายชนิดขึ้นอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ บางแห่งเป็นป่าแก่ผ่านการทำไร่มาแล้วหลายปี ส่วนที่ติดกับหมู่บ้านจะเป็นป่าผสมกับการปลูกชา เดิมตามสันเขาทอดติดต่อ 4 ยอดเขาระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ยอดที่สูงที่สุดจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,291 เมตร มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 30 - 45 เปอร์เซนต์ ทางด้านทิศตะวันตกของภูเขาจะเป็นหน้าผาสูงชันลึกลงถึงลำห้วยประมาณ 400 เมตร ทำให้เกิดจุดชมวิวที่สมารถมองดูภูมิทัศน์ได้รอบ ๆ บริเวณดังกล่าว มีหมอกคลุมในตอนเช้าสวยงามซึ่งจะสามารถได้ในฤดูหนาวและช่วงฤดูฝน นอกจากนั้นยังมีห้วยแปลก ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ในประเทศไทยไหลผ่านหมู่บ้านและห้วยสาขาที่เกิดจากดอยป่าไม้เกี้ยะ (ไม้สน) ทำให้เกิดมีน้ำตกไม่สุงมากและไหลค่อนข้างแรง มีน้ำไหลตลอดปีเป็นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในระแวกนั้น

ลักษณะภูมิอากาศ

          จากการสอบถามชาวบ้านและศูนย์อุทกวิทยาเชียงแสน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บริเวณดัง-กล่าว) เป็นแบบมรสุมเมืองร้อนโดยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝนและมรสุม-ตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดูคือฤดูร้อน ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม มีลักษณะร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 28 - 38 องศาเซลเซียส ฤดูฝน อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน ฝนจะตกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคมในบางปี ฤดูหนาว อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 10 - 15 องศาเซลเซียส บนยอดเขาจะหนาวมากและมีลมค่อนข้างแรง

ชนิดของป่า

           เป็นป่าดิบเขามีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่นตามเชิงเขาตามไหล่เขาผ่านการทำการเกษตรมาหลายปี ป่าแก่ที่ขึ้นทดแทนเริ่มหนาแน่นบริเวณใกล้ ๆ กับหมู่บ้านมีการปลูกไร่ชาผสมกับไม้ยืนต้น พันธุ์ไม้ที่พบมีทั้งไม้ยืนต้นและไม้ชั้นล่าง เช่น เฟรินส์ ปรง แสลงใจ เปล้า สาบเสือ ไผ่ไร่ หญ้า รวมถึงลูกไม้ที่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ ชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้นที่สำคัญได้แก่ ก่อเดือย ก่อแป้น สน จำปา มะม่วงป่า กระพี้จั่น มะแฮก มะขามป้อม ซ้อ ปอกระสา เงาะป่า มะไฟป่า ประดู่ แดงน้ำ ทองกวาว เสี้ยวดอกขาว ข่อย ตะแบก

 

ชนิดสัตว์ป่า

          เนื่องจากป่าบริเวณดังกล่าวรอบล้อมด้วยหมู่บ้านชาวไทยภูเขาอีกหลายหมู่บ้านและดอยป่าไม้เกี้ยะ ถือได้ว่าเป็นจุดไข่แดงที่เหลือสภาพป่าอยู่จากการสำรวจโดยใช้เวลา 5 วัน เดินสำรวจในบริเวณดังกล่าวพร้อมกับสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน สัตว์ที่พบคือ เก้ง หมูป่า ลิง กระต่าย นกเขา นกนางแอ่น นกฮูก นกกระปูด กระแต อีเห็น ไก่ป่า เหยี่ยว งู จั๊กจั่น ผีเสื้อ ส่วนสัตว์ที่อยู่ตามลำห้วยคือ เขียด ปู ปลาก้าง ปลาชิว จิดโจ้น้ำ

จุดเด่นและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

          บริเวณดอยไม้เกี้ยะ (ไม้สน) มีจุดเด่นที่น่าสนใจสองจุดคือ บริเวณน้ำตกของห้วย-แปลงสูงประมาณ 2 เมตร ผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ แล้วแผ่กระจายไปตามลำห้วยที่มีหินโผล่ขึ้นมาสวยงามมาก อีกทั้งยังน้ำตกเล็ก ๆ สูงประมาณ 4 เมตร จากห้วยดอยป่าไม้เกี้ยะอยู่บริเวณใกล้ ๆ กัน นอกจากน้ำตกแล้วส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนิยมเดินขึ้นไปตามสันเขาจะเป็นหน้าผาสูงประมาณ 400 เมตร ในช่วงฤดูหนาวและฝนจะมีหมอกลอยในตอนเช้าเหนือยอดเขาที่สลับซับซ้อนอยู่เบื้องล่างของจุดชมวิวดอยป่าไม้เกี้ยะ ชาวบ้านเคยได้รับการว่าจ้างจากการทำทัวร์ม้า ในการเดินขึ้นชมทิวทัศน์บนสันเขาดังกล่าว

การคมนาคม

          การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ดอยป่าไม้เกี้ยะ (ไม้สน) บ้านพญาไพรนั้นรวมระยะทางประมาณ 79 กิโลเมตร โดยเริ่มจากอำเภอเมืองเชียงรายเป็นเส้นทางลาดยางถนน 4 เลนถึงอำเภอ-แม่จัน ระยะทาง 30 กิโลเมตร จากทางแยกป่าซาง (อำเภอแม่จัน) ขึ้นบ้านแม่สลอง เป็นทางลาดยางลาดชันตามไหล่เขา ผ่านบ้านอาข่า ผาเดื่อ จนถึงทางแยกไปบ้านเทอดไทย ระยะทาง 23 กิโลเมตร จากทางแยกเข้าไปอีก 13 กิโลเมตร ถึงบ้านเทอดไทย สามารถไปบ้านพญาไพรได้ 2 สองทางคือ ทางไปบ้านหัวแม่คำแล้วแยกเข้าบ้านพญาไพร ระยะทาง 28 กิโลเมตร หรือจากบ้านเทอดไทยไปบ้านพญาไพร (มีถนนลาดยางไปถึงบ้านแม่หม้อ) เพียง 13 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก

          สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นทางวนอุทยานสันผาพญาไพร ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยวเหมือนกับอุทยานแห่งชาติ หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรมและพักผ่อนหย่อนใจหรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต้นท์ไปกางเอง ทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเองแล้วไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานสันผาพญาไพรโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดที่โทร. 5614292 - 3 ต่อ 719 ฝ่ายจัดการวนอุทยาน ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ 10900 หรือสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย จังหวัดเชียงราย โทร. (053) 744416