คำระบุชนิด "sirindhorniae" เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 17 หน้า 113–118 ปี ค.ศ. 1997 จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Niyomdham 4471 ที่เก็บจากภูทอกน้อย อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย (holotype: BKF; isotypes: AAU, K)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว 5–7 มม. ร่วงง่าย ใบรูปไข่ ยาว 5–18 ซม. ปลายแยก 2 แฉกตื้น ๆ หรือแฉกลึกจนจรดโคน แผ่นใบหนา เหนียว เส้นแขนงใบออกจากโคน 9–11 เส้น ก้านใบยาว 2–6.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น แกนกลางช่อยาว 2–10 ซม. ก้านดอกยาว 1.5–2 ซม. ตาดอกรูปรี ปลายแหลม ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มม. มีขนด้านนอก ฐานดอกรูปหลอดหรือแตรแคบ ๆ ยาว 1–1.5 ซม. มีริ้วและขนหนาแน่น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 ซม. แยกจรดโคนด้านเดียว ด้านตรงข้ามแฉกเฉพาะที่ปลายกลีบ ติดทน กลีบดอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นด้านนอก รูปใบหอก ยาว 1–1.3 ซม. รวมก้านกลีบ เกสรเพศผู้ 3 อัน ก้านชูอับเรณูและอับเรณูเกลี้ยง เกสรที่เป็นหมันมี 2 อัน รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวไม่เกิน 1 มม. รังไข่มีขนสีน้ำตาลแดง ยาว 0.7–1 ซม. ก้านรังไข่ยาวประมาณ 1 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 0.7–1 ซม. มีขน ฝักรูปใบหอก ยาว 15–18 ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มี 5–7 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม แบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5–2 ซม.
สิรินธรวลี ประดงแดง หรือสามสิบสองประดง เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่หนองคาย นครพนม (ภูลังกา) และสกลนคร (ภูพาน) ความสูง 150–200 เมตร และอาจพบในประเทศลาวฝั่งตรงข้ามจังหวัดหนองคาย
เอกสารอ้างอิง:
Larsen, K. & Larsen, S.S. (1997). Bauhinia sirindhorniae sp. nov. (Leguminosae-Caesalpinioideae) a remarkable new species from Thailand. Nordic Journal of Botany 17: 113. 1997.