ชื่อสกุล “Sirindhornia” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ 22 หน้า 393–402 ปี ค.ศ. 2002 และเอื้องศรีประจิมได้รับการตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่พร้อมกัน จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Suksathan 3000 ที่เก็บจากดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (holotype: QBG)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มีใบเดียว รูปรีแกมรูปไข่ ยาว 8–12 ซม. ปลายแหลม แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มสีเข้มกระจายทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลม ยาวได้ถึง 1 ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงอมแดง กลีบเลี้ยงอันบนรูปขอบขนาน ยาว 8–9 มม. ปลายมนหรือกลม กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปไข่ ยาวประมาณ 9 มม. ปลายกลมหรือมน กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานหรือรูปแถบ ยาวประมาณ 9 มม. ปลายมน กลม หรือปลายตัด กลีบปากแยกเป็น 3 แฉก กว้าง 0.7–1 ซม. โคนสีชมพู ปลายกลีบสีขาว คอกลีบปากสีชมพู หูกลีบปากสีเขียว
พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง 900–1,000 เมตร
เอกสารอ้างอิง:
Pedersen, H.A., Suksathan, P. and Indhamusika, S. (2002). Sirindhornia, a new genus from Southeast Asia. Nordic Journal of Botany 22(4): 391–403.