สารานุกรมพืช

    สามพันปี (Dacrydium elatum (Roxb.) Wall. ex Hook. )

    ไม้ต้น สูงได้ถึง 40 ม. แยกเพศต่างต้น กิ่งมักลู่ลง เปลือกสีน้ำตาลลอกเป็นแผ่น ใบอ่อนขนาดเล็กคล้ายเข็มเรียงขนานกับกิ่ง โค้งเล็กน้อย มีสัน ใบยาว 1–1.5 ซม. ช่วงปลายสั้นและลดรูปคล้ายเกล็ดรูปสามเหลี่ยมเรียงซ้อนกัน ยาว 1–1.5 มม. โคนเพศผู้ (pollen cone) ออกเดี่ยว ๆ รูปทรงกระบอก ยาว 4–8 มม. ไร้ก้าน โคนเพศเมียหรือโคนเมล็ด (seed cone) ออกที่ปลายกิ่ง มีกาบประดับ (megasporophylls) จำนวนมาก ยาวประมาณ 1 มม. มีอันเดียวหรือหลายอันที่เจริญอวบน้ำ สีน้ำตาลแดง รูปถ้วย หุ้มเมล็ดไม่เกินกึ่งหนึ่ง ยาว 1.5–2 มม. มีเมล็ดเดียวในแต่ละกาบ รูปไข่ ยาวประมาณ 5 มม. เมล็ดแก่สีน้ำตาลดำ

    พบในภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว ในไทยพบกระจายห่าง ๆ ทุกภาค ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบเขา ความสูง 1000–1500 เมตร

    สกุล Dacrydium Lamb. มีประมาณ 25 ชนิด พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก นิวซีแลนด์ และทางใต้ของชิลี ในไทยมีชนิดเดียว ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “dakra” น้ำตา หมายถึงลักษณะชันหรือยางสนที่ไหลออกจากลำต้น

    ชื่อพ้อง: Juniperus elata Roxb.

    ชื่อสามัญ: Ouk, Ru

    ชื่ออื่น: จวงผา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); พญามะขามป้อม, สนสร้อย (ตราด); พญาไม้ (เพชรบูรณ์); สน (นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา); สนหางกระรอก (กรุงเทพฯ); สามพันปี (เลย); หางหมา (ชัยภูมิ, เลย)

      

      

      

    สามพันปี: ใบอ่อนขนาดเล็กคล้ายเข็ม ใบช่วงปลายลดรูปคล้ายเกล็ด โคนเมล็ดมีกาบประดับเจริญอวบน้ำ หุ้มเมล็ดไม่เกินกึ่งหนึ่ง (ภาพ: ราชันย์ ภู่มา, ธรรมรัตน์ พุทธไทย)