-- > สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 -->กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า -->เขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์

 

ประวัติความเป็นมา


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์เป็นหน่วยงานราชการที่สังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้ามาดูแลรักษาผืนป่าอนุรักษ์ผืนหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงมะอี่
และบางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติดงบังอี่ในท้องที่ อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด, อ. กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์,
และ อ.คำชะอี, อ.นิคมคำสร้อย,อ.หนองสูง, อ.เมือง จ มุกดาหาร


เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญด้านนิเวศวิทยามีความหลากหลายทางด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำหลากหลายที่หล่อเลี้ยงชีวิตราษฎรในจังหวัดร้อยเอ็ด,มุกดาหารและกาฬสินธุ์
มาเป็นเวลาช้านานผืนป่าแห่งนี้เคยเป็นแหล่งหลบซ่อนและเป็นที่ตั้งฐานกำลังใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์
ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 - 2523 ต่อมารัฐบาลได้ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร หลังจากนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายลง

ในปี พ. ศ. 2529 กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ได้สั่งให้นายอดุลย์ ไกรลาศศิริ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 7
เข้ามาดำเนินการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
เพื่อจะได้มีกฎหมายรองรับที่เข้มแข็ง และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
กรมป่าไม้จึงได้นำเรื่องนี้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
และได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2529 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 ได้กำหนดให้ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงมะอี่ (บางส่วน)
เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีพื้นที่ประมาณ 151,242 ไร่ หรือประมาณ 242 ตารางกิโลเมตร
และได้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2531
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2531


สถานที่ตั้งและขนาดพื้นที่


ขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 151,242 ไร่
ที่ทำการตั้งอยู่ในท้องที่ ต.บึงงาม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด พิกัด 5841 I VD265125
มีอาณาเขตครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหาร


ลักษณะภูมิอากาศ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว
โดยที่ฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ฤดูฝนจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนปลายเดือนตุลาคม- กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 32.0 องศาเซลเซียส
แต่ในฤดูหนาวอากาศจะหนาวเย็น อุณหภูมิประมาณ 8 - 12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35.7 องศาเซลเซียส
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,225.5 ม.ม./ปี ปริมาณฝนมากที่สุดเดือนกันยายน 24.8 ม.ม. น้อยที่สุดเดือนธันวาคม 2.4 ม.ม.


ลักษณะภูมิประเทศ
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200 - 600 เมตร ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง
ซึ่งสภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย
เช่น ห้วยพุงใหญ่ ห้วยดินดาด ห้วยเดื่อ ห้วยโสดา ห้วยบังอี่ ห้วยทราย เป็นต้น


ลักษณะทางธรณีวิทยาและดิน
สภาพทางธรณีวิทยาของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินทราย
ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเลมาเป็นเวลานับล้านปีจัดอยู่ในหินโคราช
หินทรายที่พบมีลักษณะการเกิดและอายุที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างกัน
สังเกตจากลานหินที่มีเนื้อหินละเอียดอัดกันแน่น แตกต่างกับหินบริเวณอื่น ๆ
ลักษณะของดินเนื่องจากมีลักษณะเป็นภูเขาหินทราย เพราะฉะนั้นดินที่พบจึงเป็นดินร่วนปนทราย มีเศษ กรวด หิน
และลูกรังปะปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังประกอบด้วยชุดดินต่าง ๆ เช่น ชุดดินเก่าหล่มสัก สันป่าตอง สตึก และวาริน


สัตว์ป่า
สัตว์ป่าที่พบได้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีหลายประเภท แบ่งเป็น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมูป่า ลิง กระแต ตุ่น ฯลฯ
สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูชนิดต่าง ๆ กิ้งก่า ตะกวด ฯลฯ
สัตว์ปีก เช่น นกเขาเขียว นกบั้งรอกใหญ่ นกปรอดเหลืองหัวจุก เหยี่ยวชนิดต่าง ๆ

ตลอดจนจำพวกแมลง เช่น ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ผีเสื้อจรกาแคระ ผีเสื้อแพนซีมยุรา เป็นต้น

จากการศึกษาความหลากชนิดของสัตว์ป่า ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ จังหวัดร้อยเอ็ดมุกดาหารและกาฬสินธุ์
โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ (มกราคม 2543)
พบ

สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม 35 ชนิด 30 สกุล 19 วงศ์ 9 อันดับ
นก 131 ชนิด 84 สกุล 29 วงศ์ 14 อันดับ
สัตว์เลื้อยคลาน 45 ชนิด 30 สกุล 13 วงศ์ 2 อันดับ
สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก 16 ชนิด 10 สกุล 4 วงศ์ 1 อันดับ
ปลาน้ำจืด 27 ชนิด 21 สกุล 10 วงศ์ 5 อันดับ และแมลง 87 ชนิด 67 สกุล 9 วงศ์


ป่าไม้
ผลจากการศึกษาสังคมพืช 7 ชนิด คือ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังสมบูรณ์ ป่าเต็งรังแคระ
ป่ากำลังทดแทน ป่าปลูกหรือป่าสวนและป่าริมห้วย
ชนิดพรรณพืชที่พบพบพืชที่มีท่อลำเลียงทั้งหมด 115 วงศ์ 351 สกุล 526 ชนิด
จำแนกเป็นพืชไม่มีเมล็ด 13 ชนิด 10 สกุล 8 วงศ์ พืชไม่มีรังไข่ห่อหุ้ม 3 ชนิด 3 สกุล 3 วงศ์
พืชใบเลี้ยงเดี่ยว 67 ชนิด 52 สกุล 15 วงศ์ และพืชใบเลี้ยงคู่ 443 ชนิด 286 สกุล 89 วงศ์
เป็นพืชเฉพาะถิ่น 3 ชนิด 3 สกุล 3 วงศ์ พืชต่างถิ่น 4 ชนิด 9 สกุล 106 วงศ์
สถานภาพตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 จำแนกเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา 134 ชนิด
และไม้หวงห้ามพิเศษ 6 ชนิด สถานภาพตามพระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ. 2530
จำนวน 18 ชนิด เห็ดกินได้ 7 วงศ์ 9 สกุล 14 ชนิด

การคมนาคม
จากกรุงเทพฯ - ขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 จากขอนแก่น - อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด
ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 จาก อ.หนองพอก - บ้านท่าสะอาด 13 กม. เลี้ยวซ้ายอีก 13 กม.
ถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์

 

 

 

<< กลับหน้าหลักกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า>>


สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
659 หมู่ 14 ถนนมิตรภาพ ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
ติดต่อ Webmaster : paitamfun@hotmail.com , Hwa59@yahoo.com
Best View resolution@ 800x600 :) and Install FLASH plugin